Loading...
Uncategorized

คณะแพทย์ ม.อ. วิจัย การใช้วัคซีนเพียง 1 ใน 5 ฉีดใต้ผิวหนัง สร้างภูมิคุ้มกันใกล้เคียงการฉีดตามปกติ

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิจัยการได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้า 1 เข็ม โดยใช้ปริมาณวัคซีนแอสตร้า 1 ใน 5 ฉีดใต้ผิวหนัง มีภูมิคุ้มกันใกล้เคียงการฉีดปกติ และลดผลข้างเคียงทั่วไป ขั้นตอนต่อไปกำลังศึกษา การได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ แบบฉีดใต้ผิวหนัง โดยใช้อัตรา 1 ใน 5 กับอาสาสมัคร เพื่อเป็นทางเลือกและข้อมูลบริหารจัดการวัคซีนของประเทศในการเปิดประเทศ
 
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 64 ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผย ผลการศึกษา ของทีมงานสาขาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อบริหารการจัดการวัคซีน โดยได้รับทุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดยทีมงานวิจัยได้ทำการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย ของวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น โดยเปรียบเทียบระหว่างการได้รับวัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติเข้าใต้ผิวหนังกับการได้รับวัคซีนปริมาณปกติเข้ากล้ามเนื้อในกลุ่มประชากรทั่วไปอายุระหว่าง 18-60 ปี จำนวน 120 คน ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ผลวิจัยเบื้องต้นพบว่า
 
การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มบูสต์กระตุ้น เข็ม 3 ด้วยวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติ โดยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 1 ขวดเมื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะฉีดได้ 10 คน แต่ถ้าฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนังจะฉีดได้ถึง 50 คน เป็นการใช้ปริมาณวัคซีนน้อยลงและสามารถฉีดวัคซีนได้จำนวนเพิ่มขึ้น สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแอนติบอดี้ที่ช่วยในการป้องกันไวรัสเข้าเซลล์ร่างกายและทีเซลล์ที่ช่วยในการจัดการไวรัสเมื่อเข้าสู่เซลล์ร่างกายแล้วได้ภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อแบบปกติ
การได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข้าใต้ผิวหนังแบบลดโดสของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มมาแล้ว 4-8 สัปดาห์หรือกลุ่มที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว 8-12 สัปดาห์ ระดับภูมิคุ้มกันทั้งการสร้างแอนติบอดี้และทีเซลล์ไม่มีความแตกต่างกัน  อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 128.7 ยูนิตต่อมิลลิลิตร และเมื่อรับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ด้วยวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,652 ยูนิตต่อมิลลิลิตร ส่วนการฉีดเข้าผิวหนังร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันระบบแอนติบอดี้ได้ถึง 1,300 ยูนิตต่อมิลลิลิตร ซึ่งใช้วัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติ
 
สำหรับการศึกษาภูมิคุ้มกัน อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อถูกกระตุ้นด้วยโปรตีนหนามแหลมของโคโรน่าไวรัสสามารถหลั่งไซโตไคน์อิเตอเฟอรอนแกรมม่าเพื่อกำจัดไวรัสได้ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน
ส่วนอาการข้างเคียง อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการวิจัยไม่พบอาการที่รุนแรงจากวัคซีน โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีผลข้างเคียงทางร่างกาย เช่น อาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อย น้อยกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่มีผลข้างเคียงทางผิวหนัง เช่น อาการบวมแดงและคันซึ่งอาการดังกล่าวจะหายเองได้
 
“ตอนนี้เราได้ทำการศึกษาการฉีดวัคซีนเข้าทางผิวหนังเปรียบเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบปกติ ในระยะเวลา 14 วัน 28 วัน พบว่าภูมิคุ้มกันเป็นที่น่าพอใจ จะศึกษาต่อว่าภายใน 90 วัน ผลจะเป็นอย่างไร ตามที่ทราบว่าภูมิจะลดลงเรื่อยๆ และจะศึกษาการใช้วัคซีน  ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ แบบฉีดใต้ผิวหนัง โดยใช้อัตรา 1 ใน 5 กับอาสาสมัคร จำนวน 90 คน ในระยะเวลา 14 วัน 28 วัน และ 90 วัน ตามลำดับ เช่นเดียวกัน เพื่อศึกษาภูมิคุ้มกัน และอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับอาสาสมัคร”

ทั้งนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้จัดให้มีการวิจัย ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผลการศึกษาวิจัยจะนำมาเป็นข้อมูลให้กับกระทรวงสาธารณสุข ในการบริหารจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดประเทศ ตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หาดใหญ่แซนด์บ็อกซ์ และเมืองอื่นๆ

Share :