สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานว่าปี 2562 ไทยส่งออกเมล็ดดิบกาแฟ 383.33 ตัน มูลค่า 84.33 ล้านบาท เมล็ดกาแฟคั่ว 145.48 ตัน มูลค่า 40.17 ล้านบาท และกาแฟสำเร็จรูป 2,666.70 ตัน มูลค่า 574.40 ล้านบาท ข้อมูลปี 2562/63 ประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกกาแฟ 214,294 ไร่ ผลผลิต 18,598 ตัน แยกเป็นพันธุ์อะราบิกา 87,159 ไร่ ให้ผลผลิต 8,553 ตัน พันธุ์โรบัสต้า 127,135 ไร่ ให้ผลผลิต 10,045 ตัน ปลูกภาคใต้มากที่สุด 58.47 % ภาคเหนือ 39.82 % ภาคอิสาน 0.86% และภาคกลาง 0.85%
ผศ.ดร.ระวี เจียรวิภา อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ ให้ข้อมูลว่าภาคใต้เหมาะกับการปลูกกาแฟโรบัสต้า และไฟน์โรบัสต้า(กาแฟพิเศษคุณภาพสูง)คือโอกาสของเกษตรกร ทั้งแบบปลูกกาแฟอย่างเดียวหรือปลูกกาแฟร่วมยาง อาจารย์ระวีแนะนำว่าถ้าต้องการปลูกกาแฟร่วมยางต้องคำนึงถึง 2 ปัจจัยสำคัญ คือแสงกับระบบราก การปลูกยางแบบเดิมระยะปลูก 7 คูณ 3 เมตร แต่การปลูกกาแฟร่วมยางการจัดการจะซับซ้อน ปัจจุบันการยางแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ปลูกพืชอื่นร่วมยาง แต่ต้องมียางอย่างน้อย 40 ต้นต่อไร่ สามารถขยายแถวเป็น 14 คูณ 3 เมตร ตรงกลางว่าง 14 เมตร ปลูกกาแฟได้ 3 แถว
จากการเก็บข้อมูลการปลูกกาแฟร่วมยาง อ.ระวีพบว่า ในช่วงยางอายุประมาณ 2-3 ปีก่อนเปิดกรีด กาแฟเติบโตได้เหมือนปกติเหมือนกาแฟในสภาพอื่น ผลผลิตค่อนข้างสูง แต่ถ้าปลูกตอนเริ่มเปิดกรีด ช่วงยางอายุ 7-8 ปี กาแฟจะชะงักการเติบโต เพราะแสงค่อนข้างทึบ หรือถ้าปลูกในช่วงกรีดยางหน้า 2 หน้า 3 หรือยางอายุ 15 หรือ 20 ปี กาแฟสามารถปรับตัวเจริญเติบโตได้เช่นเดียวกัน แต่โตช้า ต้องใส่ปุ๋ยมากขึ้น
กาแฟชอบแสงประมาณ 70-80 % ทำให้จัดการเรื่องแสงค่อนข้ารงยากเมื่อปลูกร่วมยางพารา ทั้งการเจอปัญหาแสงไม่พอและระบบรากยางที่ค่อนข้างหนาแน่น เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยกาแฟ 3-4 ครั้งต่อปี ต้องพรวนดินรอบโคนต้นเพื่อช่วยตัดรากยาง รากฝอยบ้าง บ่อยครั้งที่พบปัญหากาแฟขาดธาตุอาหารรองค่อนข้างมาก เช่น โบรอน เหล็ก แมงกานีส แม็กนีเซียม ส่วนรากแก้วของยางจะหนาแน่นประมาณ 20 เซ็นติเมตรจากผิวดิน รากกาแฟก็มีสภาพเดียวกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า จึงควรปลูกกาแฟร่วมยางตั้งแต่ยางอายุยังน้อย เพื่อได้แสงเพียงพอ โตเร็วระบบรากไม่แข่งขันกับยาง
อ.ระวีแนะนำ ว่าการจัดการกาแฟร่วมยางหรือสวนกาแฟควรจัดการแบบประณีต เพราะกาแฟเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการกลิ่นรสเฉพาะและหลากหลาย เป็นสินค้าระบบโลกที่มีเงื่อนไขสากล เกษตรกรหลายคนถอดใจหลังมาอบรมคือรู้สึกว่ายาก จัดการยาก แต่ถ้าแลกกับความสำเร็จผลิตกาแฟมีคุณภาพแลกมาด้วยราคาและรายได้ที่น่าพอใจ
นอกจากนั้นอาจารย์ระวีมีความเห็นว่ากาแฟเหมาะกับคนที่มีพื้นที่ขนาดไม่มาก ควรตั้งเป้าหมายผลิตไฟน์โรบัสต้าคือกาแฟพิเศษพรีเมี่ยมคุณภาพสูง ดูแลอย่างดี ไม่ว่าจะการปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูปหรือคั่ว ข้อดีคือแม้มีพื้นที่น้อยแต่ถ้าผลิตไฟน์โรบัสต้าหรือใกล้เคียงพรีเมี่ยม ได้กลิ่นรสเฉพาะ คุณภาพจะเป็นต้องการของนักดื่ม นักชิม
การจำแนกหรือประเมินกาแฟพรีเมี่ยม จะพิจารณาขนาดเมล็ด ทดสอบกลิ่น รส ว่ามีกลิ่นแปลกปลอมหรือไม่ เช่น การตากบนลานดินมีไก่คุ้ยเขี่ย ขี้ไก่ ก็จะมีกลิ่นติดเมล็ดกาแฟไปด้วย ขั้นตอนทุกอย่างต้องมีคุณภาพ ตากแล้วการเก็บเมล็ดไม่ถูกต้อง อับชื้นก็จะมีกลิ่นชื้น ราคาตก ไม่เป็นที่ต้องการ ถ้ากระบวนการผลิตมีคุณภาพ มีกลิ่นเฉพาะ กลิ่นสมุนไพร เป็นที่ต้องการของตลาด ราคาจะเพิ่ม กาแฟเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจผลิตกาแฟคุณภาพ หากขายผลสดระยะเชอรี่ ราคารับซื้อแค่กิโลละ 20 บาท ถ้าเป็นสารกาแฟ กิโลละ 70 -90 บาท แต่ถ้าเกรดผลใหญ่อาจขายได้ถึง 150-200 บาทเลยทีเดียว อ.ระวีให้ความเห็นว่าจุดอ่อนของการจัดการกาแฟของภาคใต้คือเกษตรกรยังมองกาแฟว่าเป็นพืชร่วม พืชแซม ขาดการดูแลอย่างเต็มที่ กาแฟโรบัสต้าเป็นกาแฟคุณภาพตัวหนึ่ง แต่ยังมีความเชื่อว่าคุณภาพโรบัสต้าไม่เท่าเทียมอาราบิก้าเพราะกระบวนการปลูก ดูแล และแปรรูปยังไม่ได้คุณภาพมากนัก
อ.ระวีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ได้รับงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดอบรมพัฒนาทักษะเกษตรกร โดยไม่จำเป็นว่าเกษตรกรจะมีปลูกกาแฟหรือไม่ ให้ผู้เข้าอบรมมารับการถ่ายทอดความรู้ เตรียมตัว ก่อนเอาทักษะไปต่อยอดเมื่อปลูกกาแฟ ตัวอย่างเช่น อ.เขาชัยสน พัทลุง อยากทำเรื่องกาแฟเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเพราะภาคการท่องเที่ยวของพัทลุงกำลังขยายตัว โดยใช้น้ำแร่หมักกาแฟเพื่อให้มีกลิ่นรสเฉพาะตัว มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานงานและคอยเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งหากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรหรือท้องถิ่นไหนสนใจการปลูกกาแฟหรือปลูกกาแฟร่วมยางพาราติดต่อได้ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์”