Loading...
Uncategorized

นักวิชาการ ม.สงขลานครินทร์ แนะอย่ากินปลาจากแนวปะการัง กระทบสมดุลระบบนิเวศทะเล

แม้ปลาจะเป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การบริโภคปลาบางชนิดที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ อาจส่งผลต่อโลกใต้ท้องทะเลได้ โดยเฉพาะปลาสวยงามที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังและคอยกินสัตว์น้ำตัวเล็กตัวน้อย รวมทั้งสาหร่ายและฟองน้ำทะเล ซึ่งปลาสวยงาม อย่างปลาสินสมุทรวงฟ้าที่มีความสำคัญต่อสมดุลระบบนิเวศทะเลเป็นอย่างมาก

สืบเนื่องจากทีมงานสถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่ ได้ลงพื้นที่ถ่ายภาพ #หลาดlocal ณ ตลาดสดแห่งหนึ่งในหาดใหญ่ ได้พบเจอ “ปลาสินสมุทรวงฟ้า หรือ ปลาโนราห์” ทำให้ได้ศึกษาเรื่อง ผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการัง หากเราทานปลาสวยงามจากแนวปะการัง

“ปลาสินสมุทรวงฟ้า หรือ ปลาโนราห์” เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pomacanthus annularis อยู่ในวงศ์ปลาสินสมุทร (Pomacanthidae) ลำตัวมีลายสีน้ำเงินพาดโค้งตลอดลำตัว เหนือแผ่นปิดเหงือกมีวงคล้ายวงแหวนสีฟ้า ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่ป็นที่มาของชื่อเรียก ครีบหลังตอนท้ายเป็นปลายแหลมยื่นยาวออกไป เมื่อยังเป็นลูกปลาวัยอ่อนมีลายพาดขวางสีน้ำเงินสลับฟ้าคล้ายกับปลาสินสมุทรหางเส้น (P. semicirculatus) ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกัน แต่หางของปลาสินสมุทรวงฟ้าเป็นสีขาว

อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่า “ปลาในแนวปะการังทุกชนิดมันทำหน้าที่รักษาสมดุลในปะการัง อย่างปลานกแก้วเนี่ย เค้ากินสาหร่าย เท่ากับไม่ให้สาหร่ายเติบโตมากเกินไปจนปกคลุมแนวปะการัง ก็ช่วยให้ปะการังได้เติบโตได้ดี หากเรากินปลานกแก้ว ก็เท่ากับจะไม่มีผู้กำจัดสาหร่าย ทำนองเดียวกับ กับปลาสินสมุทร กลุ่มปลาสินสมุทรจริงๆก็คล้ายๆกับปลาผีเสื้อ ตัวสินสมุทรเองหน้าที่เชิงนิเวศน์เค้าก็กินพวกฟองน้ำ กินสาหร่าย กินไส้เดือนทะเลที่อยู่ตามผิวตัวปะการัง คือปกติในระบบนิเวศน์ปะการังเนี่ย ตัวปะการังเองจะต้องแก่งแย่งต่อพื้นที่กับพวกสาหร่ายกับพวกฟองน้ำ เพราะฉะนั้นกลุ่มปลาสินสมุทร เค้าก็จะทำหน้าที่ควบคุมพวกฟองน้ำไม่ให้ มีมากเกินไป เพราะหากฟองน้ำมีมากเกินไปก็จะปกคลุมปะการัง ปะการังก็ตาย”

“ปกติในระบบนิเวศแนวปะการัง พวกปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง เค้าจะเก็บกินเจ้าตัวเล็กตัวน้อยตามปะการัง ก็เหมือนเป็นตัวควบคุมความสมดุลของระบบนิเวศน์”

นิเวศปะการัง สัมพันธ์กับนิเวศทะเลอย่างไร?

ในแนวปะการังจะมีปลาหลายชนิดมาวางไข่ เนื่องจากในแนวปะการังจะมีช่อง มีที่หลบภัย มีอาหารการกินค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นปลาหลายๆชนิดจะมาวางไข่ หรือมีตัวอ่อนมาอาศัยอยู่ พอโตก็จะออกไปข้างนอก เรียกว่าเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่บางชนิดก็จะอาศัยอยู่ในแนวปะการังตลอดชีวิต เช่น ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร

ในแนวปะการัง จะมีปลาสีสันสวยงามเสมอไปไหม?

ส่วนใหญ่จะมีสีสัน มีลวดลายที่มีลักษณะของการพรางตัวเพื่อกลมกลืนกับสภาวะรอบตัว หรือมีสีดำคาดรอบดองตาเพื่อไม่ให้ศัตรูรู้ เพราะปกติศัตรูจะกินปลาจะเข้าทางด้านหน้า เมื่อเห็นดวงตาก็จะรู้ว่าต้องเข้าด้านหน้า ปลาแนวปะการังจึงมีลวดลายพรางตัวได้

หากมนุษย์จับปลาในแนวปะการังกิน จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง?

แนวปะการังจะเสื่อมโทรม เพราะจะไม่มีปลาที่คอยจับกินตัวเล็กตัวน้อย หรือสาหร่าย ฟองน้ำ ส่งผลให้ปะการังสุขภาพไม่ดี แล้ววันนึงมันจะอ่อนแอลงแล้วตายในที่สุด หรืออาจจะโดนไส้เดือนทะเล เจาะไชท่อนปะการังจนตาย” อยากส่งเสริมให้กินปลาที่มาจากการเพาะเลี้ยง หรือมาจากการประมงที่มาจากกลางน้ำ พวกปลาทู ปลากะพง คือสัคว์น้ำในแนวปะการัง เราอยากรณรงค์ไม่ให้กินกัน เพื่อให้ระบบนิเวศมีภาวะสมดุล

Share :