Loading...
Uncategorized

วช. หนุนงานวิจัยเลี้ยงแพะ ม.อ. ครบวงจร บุกเบิกผู้เลี้ยงรายใหม่ ต่อยอดเชิงพาณิชย์

วช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมงานวิจัยเลี้ยงแพะของนักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เร่งสร้างมาตรฐาน GMP HALAL เสริมความมั่นคงอาชีพให้เกษตรกร พร้อมบุกเบิกผู้เลี้ยงแพะรายใหม่ในพื้นที่โดยรวมกว่า 200 ราย กระตุ้นบริโภคทั้งในและต่างประเทศ

ผศ. ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะผู้ประสานงานแผนงานวิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ พ.ศ. 2563 – 2565 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้การต้อนรับ รศ. ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ประธานคณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจ : ยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และในฐานะคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าเยี่ยมชมและรับฟังสรุปผลการวิจัยเกี่ยวกับแพะทั้งหมด 8 เรื่อง พร้อมทั้งนำชมโครงการพัฒนาโรงฆ่าแพะฮาลาลต้นแบบเพื่อส่งเสริมการผลิตเนื้อแพะคุณภาพดีในภาคใต้ตอนล่าง

ทั้งนี้ ผลงานการวิจัยได้แล้วเสร็จในเบื้องต้น โดยจะมีการขับเคลื่อนสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการวิจัย ภายใต้แผนงานวิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ พ.ศ.2563-2565 ของคณะนักวิจัยจากคณะทรัพยากรธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยสามารถนำองค์ความรู้มาแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแพะในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย การจัดการการเลี้ยงแพะ ระบบอาหาร การปรับปรุงและการผสมพันธุ์ รวมทั้งการจัดการโรคในแพะ “เมลิออยโดสิส” ที่สำคัญเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีผู้สนใจเลี้ยงแพะในปริมาณมากขึ้น ด้วยความต้องการของตลาดยังมีอีกมาก ราคาดี และคุณค่าทางโภชนาการที่ได้มาจากเนื้อแพะและนมแพะ ซึ่งจะเร่งสร้างกระบวนการเรียนรู้แนวทางการผลิตอาหารจากแพะที่มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตแพะ ให้เพิ่มมูลค่าเปิดตลาดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

 พร้อมกันนี้ ยังมีการนำเสนอผลการวิจัยเพื่อต่อยอด สร้างการรับรู้ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
 
  1. ศักยภาพทางการตลาดและการจัดการโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแพะในภาคใต้ หัวหน้านักวิจัย คือ ผศ. ดร.พิไลวรรณ ประพฤติ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  2. การศึกษาและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะ ของเกษตรกรในภาคใต้ตอนล่าง หัวหน้านักวิจัย คือ อ.สันติ หมัดหมัน คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
  3. นวัตกรรมอาหารผสมสำเร็จจากเศษเหลือทางการเกษตรและอุตสาหกรรม สำหรับแพะเนื้อและแพะนมในภาคใต้ หัวหน้านักวิจัย คือ รศ. ดร.วันวิสาข์ งามผ่องใส คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  4. การค้นหาและจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี genotyping-by-sequencing (GBS) เพื่อจำแนกอัตลักษณ์พันธุ์จำเพาะ และปรับปรุงพันธุกรรมของแพะเนื้อพันธุ์ “ทรัพย์ ม.อ.” หัวหน้านักวิจัย คือ ดร.พิชญานิภา กล่อมทอง คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  5. แนวทางการใช้เทคโนโยชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์แพะ หัวหน้านักวิจัย คือ ผศ. ดร.น.สพ.สฤษฏิ์วิชญ์ ปัญญาบริบาลบ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  6. การวิจัยและพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะ หัวหน้านักวิจัย คือ ผศ. ดร.วรรณรัตน์แซ่ชั่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  7. การพัฒนาต้นแบบโรงแปรรูปน้ำนมแพะมาตรฐาน GMP และศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย หัวหน้านักวิจัย คือ ดร.ปิตุนาถ หนูเสน คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  8. กิจกรรมและสื่อเพื่อการเลี้ยงแพะและการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะ หัวหน้านักวิจัย คือ ผศ. ดร.อภิญญา รัตนไชย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในนามศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก ได้พัฒนาแพะสายพันธุ์ “แพะทรัพย์ ม.อ.1” เป็นแพะเนื้อลูกผสม ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างแพะพื้นเมืองภาคใต้ กับแพะพันธุ์แองโกลนูเบียน มีลักษณะเด่นคือสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมภาคใต้ และเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นแม่พันธุ์พื้นฐานเพื่อสร้างแพะลูกผสมสายต่างๆ ซึ่งทางคณะได้ทำการถ่ายทอดองค์ความรู้และมอบแพะให้แก่เกษตกรที่สนใจพร้อมทั้งมีจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่จะนำไปเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
Share :