รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ฝ่ายโรงพยาบาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์สายพันใหม่โอมิครอน (Omicron) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่มีการระบาดในขณะนี้นั้น ยังคงต้องรอข้อมูลจากผลการทดลองจากหลอดทดลองสักระยะหนึ่ง โดยการใช้กลไกทางระบาดวิทยาในการประเมินว่าการติดเชื้อชนิดนี้อาการรุนแรงมากกว่าการติดเชื้อสายพันธุ์เดิมหรือไม่ ถือเป็นการเปรียบเทียบในเชิงระบาดวิทยา เบื้องต้นข้อมูลทางลักษณะพันธุกรรมที่บ่งชี้ถึงลักษณะหนามแหลมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยมีแนวโน้มทำให้การติดเชื้อง่ายขึ้นในหลอดทดลอง ที่มีข้อมูลสำคัญคือ ข้อมูลด้านเชิงพันธุศาสตร์
เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของไวรัสชนิดเดิมซึ่งระบาดมากที่สุดขณะนี้คือเดลต้ากับโอมิครอนว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ สามารถศึกษาได้ 2 แบบคือการศึกษาเพียงบางส่วนของสารพันธุกรรมและการศึกษาทั้งหมดของสารพันธุกรรม เรียกว่า “จีโนม” สามารถช่วยให้ได้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลทางด้านคลินิค ประกอบด้วยข้อมูลด้านไวรัสวิทยาคือการทดลองในหลอดทดลองว่าเชื้อสามารถติดกับเซลล์ที่สร้างขึ้นมาได้หรือไม่ หากติดได้มากขึ้นจะมีแนวโน้มแพร่ได้มากขึ้น โอกาสติดง่ายขึ้น แล้วผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีอาการอย่างไร อัตราเสียชีวิตเท่าไหร่ อัตราการนอนโรงพยาบาล การเจ็บป่วยแบบรุนแรงเท่าไหร่ต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม และข้อมูลทางระบาดวิทยาจำนวนผู้ที่มีการติดเชื้อมากขึ้นหรือเปล่า สัดส่วนเท่าไหร่ของการติดเชื้อโควิดทั้งหมด
ส่วนประเด็นวัคซีนกับโควิด-19สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน (Omicron) รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี กล่าวว่า วัคซีนชนิด Viral Vector Vaccines เช่น แอสตราเซเนก้า (AstraZeneca) เป็นการสร้างวัคซีนขึ้นมาโดยอยู่บนพื้นฐานการป้องกันตัวไวรัสเข้ามาติดเซลล์ วัคซีนพุ่งเป้าไปสู่โปรตีนหนามแหลมของไวรัส ถ้าหากโปรตีนหนามแหลมของไวรัสเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่เกิดจากสารพันธุกรรมมากขึ้นประสิทธิภาพของวัคซีนก็มีแนวโน้มที่ลดลงเล็กน้อย และวัคซีนชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) เป็นการแนะนำให้ร่างกายรู้จักโปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 สร้างโปรตีนหนามของไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย เซลล์ของร่างกายจึงสร้างโปรตีนหนามให้ร่างกายรับรู้ เมื่อร่างกายรู้จักโปรตีนหนามของไวรัสนี้แล้วจะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามขึ้นหลังจากนี้เมื่อได้รับเชื้อจริง ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค (Sinovac) ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ซี่งเป็นวัคซีนที่ทำให้เกิดภูมิต้านทานต่อทั้งตัวหนามแหลมโปรตีนและลักษณะโครงสร้างอื่นๆ ของไวรัส โอกาสที่โครงสร้างของหนามแหลมมีเปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ดีจากข้อมูลที่แสดงก่อนหน้านี้เรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายอาจจะมีแนวโน้มที่ต่ำกว่า 2 ชนิดข้างต้น
ปัจจุบันพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายไปแล้วกว่า 90 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่พบยอดผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง จึงมีการพิจารณายกระดับและปรับมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมากขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ม.สงขลานครินทร์ ได้เน้นย้ำถึงการฉีดวัคซีนว่าสามารถช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน และลดปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ พร้อมขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ