Loading...
Uncategorized

กระทรวงแรงงาน เตรียมเยียวยาลูกจ้างถูกเลิกจ้างจาก COVID-19 แพร่ระบาด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนเป็นเหตุให้สถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้นายจ้างบางส่วน ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และมีการจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้าง โดยไม่ถูกต้อง รวมถึงมีการเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน หามาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างกลุ่มนี้ให้ได้รับเงินสงเคราะห์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในอัตราที่เหมาะสม ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วย การจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่ายกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease (COVID-19)) พ.ศ.2564 โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ ดังนี้
1. กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ “จาก 30 เท่า เป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี จาก 50 เท่า เป็น 80 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี และ จาก 70 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป”
2. กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ “60 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ระเบียบนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ลูกจ้างที่เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฯ จากสาเหตุนายจ้างประสบปัญหาทางการเงินเพราะสาเหตุการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถขอรับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 ได้แล้ว กระทรวงแรงงานออกระเบียบเพิ่มอัตราและระยะเวลาการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ลูกจ้าง มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2565
Share :