Loading...
Uncategorized

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา โบราณสถานของชาติ แหล่งศึกษาหาความรู้ที่งดงามมากกว่า 100 ปี

ประวัติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา  
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นโบราณสถานของชาติ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมตะวันตก อายุกว่า 100 ปี เดิมเป็นคฤหาสน์ของ พระยาสุนทรานุรักษ์(เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ต่อมาได้ถูกใช้เป็นสถานที่ของหน่วยงานต่างๆ อาทิ

พ.ศ.2437 ใช้เป็นที่พำนักและว่าราชการของพระยาวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ต่อมาก็คือ เจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)

พ.ศ.2496 ใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช และเป็นศาลากลางจังหวัดตามลำดับ

พ.ศ.2516 กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนอาคารแห่งนี้เป็นโบราณสถาน และปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานของชาติ

วันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2525 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูล ในหลวงรัชกาลที่ 10 ครั้งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เพื่อให้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง นอกจากนี้ ยังจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับตระกูล ณ สงขลา ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าเมืองสงขลาในอดีตด้วย

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป สร้างเป็นตึกก่ออิฐ สอปูน 2 ชั้น บ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตก หันหน้าสู่ทะเลสาบสงขลา ลักษณะตัวบ้านยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ปลูกเป็น เรือนหมู่ 4 หลัง เชื่อมติดกันด้วยระเบียงทางเดิน มีบันไดขึ้น 2 ทาง คือด้านหน้าและตรงกลาง ลานด้านใน กลางบ้านเป็นลานเปิดโล่ง สำหรับปลูกต้นไม้หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้านหน้าอาคารมีสนามและมีอาคารโถงขนาบสองข้าง ด้านหลังมีสนามเช่นเดียวกัน พื้นที่โดยรอบอาคารเป็นสนามหญ้าและสวนมีกำแพงโค้งแบบจีนล้อมรอบ อาคารชั้นบน ห้องยาวด้านหลัง มีบานประตูลักษณะเป็นบานเฟี้ยม แกะสลักโปร่งเป็นลวดลายเล่าเรื่องในวรรณคดีจีน สลับลายพันธุ์พฤกษา หรือลายมังกรดั้นเมฆ เชิงไข่มุกไฟ ส่วนหัวเสาชั้นบนของอาคารมีภาพเขียนสีเป็นภาพเทพเจ้าจีน หรือลายพฤกษา ภายในห้องตรงขื่อหลังคา จะมีเครื่องหมายหยินหยาง โป้ยป้อ หรือ ปากั้ว เพื่อป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ตามคตินิยมของชาวจีน หลังคามุงกระเบื้องสองชั้นฉาบปูนเป็นลอน สันหลังคาโค้ง ปลายทั้งสองด้านเชิดสูงคล้ายปั้นลมของเรือนไทย ภายนอกอาคาร บริเวณผนังใต้จั่วหลังคา มีภาพประติมากรรมนูนต่ำสลับลาย ภาพเขียนสี เป็นรูปเทพเจ้าจีนและลายพันธุ์พฤกษา

อาคารจัดแสดงมี 2 ชั้น
ชั้นล่าง แบ่งการจัดแสดงเป็น 8 ส่วน ได้แก่

  • วิถีชีวิตสงขลา
  • ภูมิลักษณ์คาบสมุทรสงขลา
  • สงขลายุคก่อนประวัติศาสตร์
  • สงขลาสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
  • เมืองสงขลาหัวเขาแดง
  • เมืองสงขลาแหลมสน
  • เมืองสงขลาบ่อยาง
  • สงขลาย้อนยุค 

ชั้นที่ 2 มีห้องจัดแสดง 5 ห้อง ได้แก่

  • ความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ
  • บันทึกสงขลา
  • ศิลปกรรมสงขลา
  • ประวัติศาสตร์โบราณคดีภาคใต้ตอนล่าง
  • สุนทรียภาพในวิถีชีวิตของชาวภาคใต้ตอนล่าง
Share :