Loading...
Uncategorized

สงขลานครินทร์ ส่งทีมแพทย์ฯ เข้าประจำโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยโควิด-19

     มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ประจำโรงพยาบาลสนาม  ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ : องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และศูนย์บ่มเพาะคนดี : มูลนิธิสวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยได้เข้าสักการะ สมเด็จพระบรมราชชนก ก่อนเดินทางไปปฏิบัติงานประจำโรงพยาบาลสนาม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองศาสตราจารย์ นพ. เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์นายแพทย์กิตติพงศ์ เรียบร้อย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์  รองศาสตราจารย์ นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วยผู้บริหาร และบุคลากรทางการแพทย์ร่วมให้กำลังใจ ส่งทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่  เข้าประจำโรงพยาบาลสนาม  ในวันที่ 18 เมษายน 2564 ลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชชนก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

     มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมมือกับจังหวัดสงขลา เปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสงขลาระลอกใหม่ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น จนทำให้จังหวัดสงขลาเป็น 1 ใน 18 จังหวัดพื้นที่สีแดง จากข้อมูลสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ วันที่ 18 เมษายน 2564  เวลา 07.00 . มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 202  ราย

     โรงพยาบาลสนาม ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ แห่งนี้ เป็น 1 ในโรงพยาบาลสนามเกือบ 10 แห่ง ของจังหวัดสงขลาที่พร้อมเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19  ที่อาจจะมีมากขึ้น จากการดำเนินการโรงพยาบาลสนาม ที่ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา ในรอบแรก ทำให้มีความพร้อมที่จะเปิดโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้ โดยทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

     โดยมี รศ.พญ. มณฑิรา ตัณฑนุช ผู้บัญชาการส่วนขยาย โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ประจำโรงพยาบาลสนาม  มีการจัดการระบบต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ รวมถึงการจัดอัตรากำลังพยาบาล ประจำที่โรงพยาบาลสนามในการดูแลผู้ป่วย โดยได้มีการจัดพื้นที่เฉพาะ สำหรับผู้ป่วยทั่วไป ทั้งห้องพักแยก และห้องพักรวม  กรณีติดเชื้อในลักษณะครอบครัว สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 80-100 เตียง เพิ่มกล้องวงจรปิดรอบอาคาร มีระบบกำจัดขยะติดเชื้อ และระบบบำบัดน้ำใช้ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างรัดกุม เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงาน และชุมชนรอบข้าง

Share :