ในโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความผันผวนที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ในขณะที่กฎหมายถูกตราขึ้นจากประสบการณ์ในอดีตและโดยทั่วไปแล้วถูกใช้เพื่อควบคุมกำกับดูแลสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตเมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าในอดีต ทำให้ความสามารถในการคาดการณ์หรือพยากรณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตมีอยู่อย่างจำกัด อำนาจของกฎหมายในการควบคุมความเป็นไปของสังคมจึงถูกลดทอนลงเป็นอันมากประกอบกับการปรับตัวของกฎหมายที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าและเต็มไปด้วยข้อจำกัด เราจึงพบปัญหาว่ากฎหมายหรือกฎระเบียบจำนวนมากล้าสมัยไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
จากปัญหาการมีกฎหมายหรือระเบียบจำนวนมากที่มีความสลับซับซ้อนและไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอีกทั้งการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ซับซ้อนล้าสมัยก็เป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับแนวคิดทางธุรกิจหรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่อาจฝ่าฝืนต่อกฎระเบียบที่มีอยู่ในขณะณะที่ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ที่ไม่มีการควบคุมกำกับดูแลที่ดีเพียงพอ ก็อาจก่อความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคในวงกว้างได้ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในการสร้างกลไกทางกฎหมายแบบใหม่ ๆ ให้มีความยืดหยุ่นและทันต่อความเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการสร้างกลไกที่เรียกว่า “Regulatory Sandbox” เพื่อแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคในทางกฎระเบียบที่มีต่อการสร้างนวัตกรรมที่กล่าวถึงข้างต้น
Regulatory Sandbox คือสนามทดสอบสำหรับแนวคิดทางธุรกิจผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ แต่เป็นการทดสอบในตลาดจริงภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์หรือปรับแต่งโมเดลทางธุรกิจในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจหรือการประกอบการที่ถูกควบคุมโดยผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลว่าจะถูกดำเนินการทางกฎหมายหากว่าแนวคิดทางธุรกิจหรือนวัตกรรมที่คิดสร้างขึ้นนั้นขัดกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ทำให้ลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนแน่นอนของกฎระเบียบ ให้แก่ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนโดยเฉพาะในธุรกิจที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบควบคุมซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ในขณะที่หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลก็จะได้เรียนรู้ว่ารูปแบบทางธุรกิจผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำงานภายใต้ตลาดจริงอย่างไรเพื่อที่จะได้ทราบว่ากฎระเบียบในปัจจุบันนั้นมีช่องว่างหรือไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไรอันจะนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัยต่อไป
Regulatory Sandbox เป็นการเปรียบเทียบกับ “กระบะทราย” สำหรับเด็กใช้เล่นภายในกระบะทรายเด็กๆ สามารถใช้จินตนาการสร้างสรรค์ปั้นแต่งทรายให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ อย่างไรก็ได้โดยไม่จำต้องกังวลต่อข้อจำกัด แต่ยังคงอยู่ภายในขอบเขตที่ได้รับการดูแลแม้ว่ากลไก Regulatory Sandbox จะมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีลักษณะสำคัญเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์เฉพาะในแต่ละกรณี (case by case rules) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอหรือแนวคิดทางธุรกิจใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการ มิใช่การกำหนดกฎเกณฑ์ทั่วไปที่ใช้กับผู้ประกอบการทุกราย (one size fits all)
อาจารย์สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หาก Regulatory Sandbox สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามีประสิทธิภาพจริงก็อาจจะทำให้รัฐต้องปรับเปลี่ยนกรอบวิธีคิดในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของเอกชนโดยนัยนี้เครื่องมือดังกล่าวจะเป็นกลไกที่เชื่อมระหว่างผู้ลงทุนหรือนักสร้างนวัตกรรมกับหน่วยงานกำกับดูแลทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างภาครัฐและเอกชนลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการและลดความกังวลใจของนักลงทุน อีกทั้งยังสามารถทำให้เกิดการเรียนรู้แก่หน่วยงานของรัฐและผู้กำหนดนโยบายอันจะนำไปสู่การพัฒนากฎระเบียบให้ทันสมัยต่อไปแม้ว่า Regulatory Sandbox จะยังคงเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยและยังคงมีข้อถกเถียงบางอย่างในเชิงหลักการของกฎหมายอยู่ แต่อย่างน้อยโมเดลทางกฎหมายชนิดนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันให้เราเห็นได้ว่าในขณะที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานของนวัตกรรมรัฐเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างนวัตกรรมในการควบคุมกำกับดูแลหรือนวัตกรรมในทางกฎหมายเช่นกัน