จากกรณีพบเชื้อราดำ ในผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศอินเดีย จากเชื้อราที่สามารถลุกลามในร่างกายได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีรายงานโรคนี้ในผู้ป่วยโควิด-19 โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบได้น้อย ส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความต้านทานต่ำ
ศาสตราจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แนะนำ สถานบริการ โรงแรม โรงภาพยนตร์ ร้านนวด ที่ปิดบริการมามากกว่า 1 เดือน ในช่วงโควิด จากการคลายล๊อกดาวน์ ก่อนเปิดบริการควรทำความสะอาดสถานที่ด้วยการดูดฝุ่น และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรา เนื่องจากแอลกอฮอล์ ไม่สามารถฆ่าเชื้อราได้ดีต้องใช้สารเคมีที่จำเพาะกับเชื้อรา อุปกรณ์ ที่นอน หมอน มุ้ง ม่านควรนำมาซัก อบแห้ง หรือตากแดด เปิดห้องให้มีการระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น สถานประกอบการขนาดใหญ่ควรใช้บริการจากมืออาชีพมาทำการ ฉีด พ่น สเปรย์ เพื่อจะได้ซอกซอนได้ทั่วถึง เพราะการทำความสะอาดด้วยมือจะไม่ทั่วถึงให้เปิดระบายอากาศ
“บางครั้งห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ อากาศแห้ง แต่บางจุดน้ำแอร์หยด อาจทำให้มีเชื้อราอยู่ หากเห็นจุดดำๆ แสดงว่ามีเชื้อรา สำหรับบ้านเรือน หรือห้างร้านขนาดเล็ก แนะนำให้ทำความสะอาดด้วย น้ำยาไลซอล หรือน้ำยาซักผ้าขาว สามารถหาซื้อได้ง่ายตามซุปเปอร์มาเก็ต นำมาเจือจางด้วยน้ำ ขอให้อ่านฉลากข้างขวดถึงปริมาณของการเจือจางกับน้ำ”
ถ้าทำความสะอาดสถานที่และอุปกรณ์และฉีดพ่นน้ำยากำจัดเชื้อราแล้ว จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามประชาชนต้องการ์ดอย่างตก เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางการหายใจได้ แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็อย่าเผลอ ต้องยึดหลัก D-M-H-T-T (Distancing อยู่ห่างไว้ Mask wearing ใส่หน้ากากป้องกัน Hand washing หมั่นล้างมือ Testing ตรวจวัดอุณหภูมิ Thai Cha na ร่วมมือใช้แอปไทยชนะ) ก็จะสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้
ศาสตราจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร กล่าวว่า เชื้อราดำที่พบในประเทศอินเดียเป็นเชื้อรากลุ่มมิวเคอร์ เรียกโรคที่เกิดจากเชื้อรากลุ่มนี้ว่า มิวเคอร์ไมโคซิส ลักษณะเชื้อราเป็นเส้นฝอยสีเทา-ดำ เจริญเติบโตอยู่ในธรรมชาติ มีสปอร์ล่องลอยอยู่ในอากาศสามารถพบได้ทั่วไป ปกติไม่ใช่เชื้อราที่เป็นอันตรายต่อคนที่ร่างกายปกติแข็งแรง แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ หรือผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาต้านมะเร็ง ยาสเตียรอยด์ ปัจจุบันอินเดียมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 2-3 แสนคนต่อวัน โดยมียอดผู้ติดเชื้อรวมทั้งประเทศราว 26 ล้านคน
โดยก่อนหน้านี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยพบเชื้อราดำในผู้ป่วยโควิด-19 เช่นกัน มีการศึกษาโดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อของผู้ป่วยโควิด-19 ไปตรวจสอบก็พบว่ามีเส้นใยของเชื้อราอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตามเชื้อราโดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนปกติที่มีร่างกายแข็ง ที่พบส่วนใหญ่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น เชื้อราในร่มผ้า กลากเกลื้อน เป็นต้น เชื้อราบางชนิดเป็นยีสต์เซลล์เดียวมักก่อให้เกิดตกขาวในผู้หญิง เชื้อราที่พบในมูลนกเขา นกพิราบ นกหงส์หยก อาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ถ้าผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเอดส์สูดหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนในมูลนกเข้าไป
สำหรับประเทศไทย ไม่น่ากังวล เพราะการสาธารณสุขและการแพทย์ไทยดีมาก สามารถจะจัดการกับโรคโควิด-19 และโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้