นางลัดดาวัลย์ เทพอ่อน นักศึกษาคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม สาขาวิชาการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้คาดว่าจะจบการศึกษาวุฒิปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ในเดือนมีนาคม 2565 ด้วยการผลิตชิ้นงานนวัตกรรม สามารถจบการศึกษาได้ใน 4 ภาคการศึกษา ใช้เวลา 2 ปี
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นางลัดดาวัลย์ เทพอ่อน นักศึกษาปริญญาเอก คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ตนเองได้จัดทำผลงานนวัตกรรม ทดแทนการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสำหรับการศึกษาปริญญาเอก ด้วยนวัตกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงชีวมวล สำหรับการผลิตถุงมือยางในประเทศไทย จากความรู้และประสบการณ์ในการทำงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 5 โรงงาน ในระยะเวลา 10 ปี พบว่า นอกจากการรักษาคุณภาพถุงมือแล้ว การลดต้นทุนในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนด้านเชื้อเพลิง เป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันกับคู่แข่ง ที่จะตอบโจทย์ในการลดต้นทุนได้ ทั้งนี้ พบว่า ต้นทุนในการผลิตถุงมือยาง เป็นวัตถุดิบ 59% ค่าจ้าง 21% ต้นทุนพลังงาน 20%
ดร.อิสระ ชนะแก้วสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมยั่งยืน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมยั่งยืน เป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในมิติพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ได้บริการวิชาการ จำนวน 10 โครงการ รวมงบประมาณ 12 ล้านบาท มีผลงานนวัตกรรมที่กำลังเข้าสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 6 ผลงาน และดำเนินความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานรัฐและเอกชนทั้งในประเทศจำนวน 22 หน่วยงาน รวมทั้งมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ 3 มหาวิทยาลัย มีการศึกษาเชื่อมโยง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยศึกษาวิจัย เริ่มต้นจากโจทย์ เพื่อแก้ไขปัญหา และเรายังพัฒนาบุคลากรระดับบัณฑิตศึกษาของภาคอุตสาหกรรมไทย ป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรม และสร้างแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศอย่างยั่งยืนและครบวงจร
รศ. ดร.เกื้ออนันต์ เตชะโต คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การใช้ผลงานนวัตกรรมเป็นวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษาปริญญาเอก นอกจากผลงานใช้ประโยชน์ได้จริงแล้ว ยังช่วยให้จบการศึกษาได้เร็ว เพราะผลงานตีพิมพ์จำเป็นต้องรอการพิจารณา แม้ว่าผลงานจะใช้ได้จริงก็ตาม นอกจากนี้วิทยานิพนธ์ที่เป็นผลงานนัวตกรรมจะสนองตอบการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม