บริษัท ปลาณีตฟาร์ม จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยทักษิณ จัดงานสัมมนา “การขับเคลื่อนเกษตรคุณภาพด้วยนวัตกรรม” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร โดยมีผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ดร.ณัฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกันสัมมนา “การขับเคลื่อนเกษตรคุณภาพด้วยนวัตกรรม” โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนประมาณ 50 ราย และที่ประชุมผ่านระบบออนไลน์รูปแบบ Zoom กว่า 400 ท่าน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ณ ห้องราชพฤกษ์ อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
โครงการ การขับเคลื่อนเกษตรคุณภาพด้วยนวัตกรรม ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ภายใต้การดูแลจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และคุณค่าสูงสุดภายใต้ BCG Model จากวิกฤตโรคระบาด Covid-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง มีการคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพ อนามัย และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านอาหาร ภาคการเกษตรเป็นแหล่งผลิตอาหารชั้นต้น
งานสัมมนา “การขับเคลื่อนเกษตรคุณภาพด้วยนวัตกรรม” ในครั้งนี้ได้เผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับอะมิโนปลาทะเล ประโยชน์และความจำเป็นต่อพืชผัก ผลไม้ สนับสนุนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ รวมเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 500 ไร่ ได้มีโอกาสทดลองใช้ในการเพาะปลูกในระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึง สิงหาคม 2565 โดยมีอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญการ นักวิชาการ นักวิจัย สาขาต่างๆ คอยดูแล แก้ปัญหา เก็บข้อมูล และสรุปผลการใช้หลังสิ้นสุดโครงการ และสนับสนุนให้เกษตรกรที่สนใจใช้อะมิโนปลาทะเล สามารถเข้าถึงในระดับราคาต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป
บริษัท ปลาณีตฟาร์ม จำกัด ยังคงคำนึงถึงการเกษตรคุณภาพ การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของผลผลิตทางการเกษตร เช่น GAP, Organic เข้ามาขับเคลื่อนจนเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ โดยมีอะมิโนปลาทะเล ตราปลาณีตฟาร์ม จากงานวิจัยและนวัตกรรม ที่มีการนำทรัพยากรส่วนเกินการจากการแปรรูปอาหารทะเล ได้แก่ เศษวัตถุดิบของบริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยการสกัดอะมิโนด้วยจุลินทรีย์จากธรรมชาติ มีความปลอดภัย ปราศจากสารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นปัจจัยสนับสนุนการเพาะปลูกพืชผัก ผลไม้ชนิดต่างๆ เป้าหมายเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถ ลด ทดแทนการใช้ปุ๋ย และสารเคมี อีกทั้งยังส่งผลต่อการเพิ่มคุณภาพผลผลิต และลดต้นทุนการเพาะปลูก ส่งผลเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคยังได้รับอาหารปลอดภัยอีกด้วย