การพัฒนารถเข็นผู้ป่วยในครั้งนี้ เริ่มต้นจากการที่ศูนย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นศูนย์รักษาผู้ป่วยโรคอ้วนแบบครบวงจร มีความปลอดภัย ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทำให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการรักษา แต่ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างการรักษายังเป็นเรื่องที่ทุลักทุเลพอสมควร เนื่องจากน้ำหนักของผู้ป่วยที่บางรายเกือบ 300 กก.
ดังนั้น ทางทีมดูแลผู้ป่วยโรคอ้วน นำโดย นพ.กำธร ยลสุริยันวงศ์ ได้ร่วมกันหารือและปรึกษากับงานขนย้ายฯ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งงานขนย้ายฯ ได้ปรึกษากับคุณพีรยุทธิ์ ฉิมเรือง เจ้าหน้าที่จากงานวิศวกรรมซ่อมบำรุง ถึงความเป็นไปได้ที่จะผลิตรถเข็นแบบนั่งที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคอ้วน จนได้รถเข็นใหม่ ที่เจ้าหน้าที่เปลเรียกว่า “พี่เบิ้ม” โดยเป็นรถเข็นนั่งขนาดพิเศษ ที่โครงสร้างของรถผลิตด้วยสแตนเลสเกรด A ทั้งคัน ทำให้รองรับน้ำหนักผู้ป่วยได้ตั้งแต่ 250 กก. ขึ้นไป มากกว่ารถเข็นนั่งของผู้ป่วยปกติทั่วไปที่รับได้ประมาณ 80-90 กก. เท่านั้น โดยในส่วนของที่นั่งจะมีแผ่นเหล็กขนาดใหญ่ แข็งแรงและกว้างขึ้นจากแบบปกติ และมีเบาะรองนั่งเพื่อให้ผู้ป่วยนั่งได้สบาย ลดความอึดอัด นอกจากนั้น รถคันนี้ยังมีวงล้อขนาดใหญ่ 2 ข้างที่เป็นล้อยางแบบสูบลมเพื่อเพิ่มความนุ่มนวล ส่วนล้อหน้าทางทีมงานระบุว่าจะต้องใช้แกนเกลียวขนาดใหญ่เพื่อความแข็งแรงและรองรับน้ำหนักผู้ป่วยได้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มความคงทนในการใช้งานและทำให้การเข็นรถสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น จากที่เคยใช้เจ้าหน้าที่เปล 2 คนช่วยกันเข็น ตอนนี้หลังจากใช้รถเข็นขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่เปลคนเดียวก็สามารถทำได้ แม้จะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ ก็ตาม
แนวคิดต่อไปคือเรากำลังมองหาเปลนอน ติดตั้งมอเตอร์ที่สามารถขับเคลื่อนและย้ายผู้ป่วยกลุ่มโรคอ้วนหรือผู้ป่วยกลุ่มอื่นที่มีน้ำหนักมากไปทำหัตถการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องออกแรงเข็น เพียงแค่ใช้คันบังคับเหมือนขับรถยนต์ไปรับส่งตามจุดต่างๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยของผู้ป่วยและคนทำงานมากยิ่งขึ้น” คุณชนิศา กล่าว