Loading...
Uncategorized

รู้จัก “โอไมครอน” (Omicron) จากรายงานของ WHO

“โอไมครอน” (Omicron) โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบและได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ในวันที่ 26 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา และล่าสุดได้ถูกจัดให้เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่ WHO จัดให้อยู่ในสายพันธุ์ที่ “น่ากังวล” (Variant of Concern หรือ VOC) ต่อจากสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา, เดลตา

โดยกลุ่มที่ปรึกษาทางเทคนิคด้านวิวัฒนาการของไวรัส SARS-CoV-2 (Technical Advisory Group on SARS-CoV-2 Virus Evolution) หรือ TAG-VE ซึ่งได้ติดตามและประเมินวิวัฒนาการของ SARS-CoV-2 มาเป็นระยะๆ รวมถึงการประเมินการกลายพันธุ์ ระบุว่า

WHO ได้รับรายงานเรื่องไวรัส SARS-CoV-2: B.1.1.529 ครั้งแรกจากประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 64 โดยเป็นการยืนยันการติดเชื้อ B.1.1.529 ครั้งแรกจากตัวอย่างที่เก็บรวบรวมเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน

โดยเบื้องต้น B.1.1.529 หรือ “โอไมครอน” มีการสะสมการกลายพันธุ์ที่น่าตกตะลึง และหลักฐานที่พบในเบื้องต้นมีข้อบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) อื่นๆ และปัจจุบันการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบสายพันธุ์โอไมครอนพบว่า มี Mutation บน Spike ที่เรียกว่า Δ69-70 (Amino acid ตำแหน่ง 69-70) หายไป 2 ตัว ซึ่งเหมือนกับสายพันธุ์อัลฟา ด้วยเหตุนี้ทำให้การทำ qPCR บางแล็บตรวจไม่พบ S gene เรียกว่า S gene target failure หรือ SGTF

 

ซึ่ง SGTF นั้น เดิมพบเฉพาะสายพันธุ์อัลฟา ทำให้ติดตามสายพันธุ์โอไมครอนได้โดยไม่ต้องทำ Full genome sequencing และในเมื่อปัจจุบันสายพันธุ์อัลฟาแทบจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ห้องปฏิบัติการต่างๆ จึงสามารถใช้ SGTF เป็นตัวคัดกรองสายพันธุ์โอไมครอนได้ ซึ่งจะทำให้การตรวจมีความรวดเร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ ทีม TAG-VE จะดำเนินการตรวจสอบและประเมินสายพันธุ์โอไมครอนอย่างต่อเนื่องต่อไป และหากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะมีการอัปเดตให้ประเทศสมาชิกและสาธารณชนได้รับทราบต่อไป

แต่เนื่องจากทีม TAG-VE ได้มีการนำเสนอข้อมูลซึ่งบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอันตรายในทางระบาดวิทยาของ “สายพันธุ์โอไมครอน” WHO จึงขอแจ้งเตือนประเทศต่างๆ ให้เพิ่มการเฝ้าระวังที่จะนำไปสู่การกลายพันธุ์ของ SARS-CoV-2, แลกเปลี่ยนข้อมูลและรายงานการค้นพบการติดเชื้อในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ VOC และเน้นย้ำคำเตือนให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

คาดการณ์ว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากลักษณะของไวรัส เช่น การส่งผ่านเชื้อโรค, ความรุนแรงของโรค, การหลบหลีกภาวะภูมิต้านทานของร่างกาย, การวินิจฉัยโรค หรือการหลบหลีกการบำบัดรักษา ซึ่งนั่นยังคงดำเนินการหาข้อพิสูจน์จนถึงตอนนี้ เนื่องจากพบว่ามีการส่งผ่านการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ หรือเกิดคลัสเตอร์ (การติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน) ของโควิด-19 จำนวนมาก ทั้งนี้ในหลายประเทศยอดผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปมีความสัมพันธ์กับความชุกของโรคที่เพิ่มขึ้น หรืออาการแสดงทางระบาดวิทยาอื่นๆ ก็ส่งผลกระทบที่บอกเป็นนัยถึงความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่จะเกิดกับสาธารณสุขโลก

“ไวรัสสายพันธุ์น่ากังวล” (VOC) ของไวรัสโคโรนานี้ เป็นสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกจัดให้อยู่ในคำนิยาม “สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ” (VOI) ด้วยวิธีการประเมินเปรียบเทียบ, การพิสูจน์ได้ว่ามีความสัมพันธ์กันกับ 1 หรือมากกว่านั้นในการเปลี่ยนแปลงของขนาดสาธารณสุขโลกที่กำลังตามมาอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การเพิ่มขึ้นในส่วนการส่งผ่านการแพร่เชื้อ หรือการก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายโดยมีการเปลี่ยนแปลงในทางระบาดวิทยา (การพัฒนาของเชื้อโรค) ของโควิด-19, ความรุนแรงของโรค หรือการเปลี่ยนแปลงในอาการของโรคทางคลินิกที่เพิ่มขึ้น หรือการลดลงของประสิทธิภาพของสาธารณสุขและมาตรการทางสังคม หรือการวินิจฉัย, วัคซีน, การบำบัดรักษาโรคที่มีอยู่

ปัจจุบัน “สายพันธุ์โอไมครอน” ถูกพบที่ใดในโลกแล้วบ้าง?

บริษัทวัคซีน กับ “สายพันธุ์โอไมครอน”?

1.บริษัทโมเดอร์นา

ผู้บริหารโมเดอร์นาให้ความเห็นว่า หากสูตรวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรับมือได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นไปได้ ณ เวลานี้ คือเพิ่มปริมาณยาสำหรับการฉีดเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น นอกจากนี้บริษัทกำลังทดสอบวัคซีนกระตุ้นแบบหลายแอนติเจน (Multivalent Booster) ว่าจะสามารถให้ผลในแง่ของการต้านทานการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนได้มากน้อยเพียงใด

2.บริษัทแอสตราเซเนกา

โฆษกแอสตราเซเนกา เปิดเผยว่า บริษัทกำลังทำการวิจัยในประเทศบอตสวานา ซึ่งพบการปรากฏตัวของสายพันธุ์โอไมครอน เพื่อรวบรวมข้อมูลไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากโลกจริงไปเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพวัคซีน Vaxzevria ของบริษัท

นอกจากนี้ บริษัทได้นำยา AZD7442 ซึ่งเป็นยาแอนติบอดีชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรักษาโรคโควิด-19 (รายงานผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 พบว่า สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคโควิด-19 แบบมีอาการได้ถึง 83% และสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรง หรือเสียชีวิตได้ 88%) มาทดสอบใช้กับสายพันธุ์โอไมครอนแล้วอีกด้วย

3.บริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค

บริษัทไฟเซอร์ เปิดเผยว่า กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบประสิทธิภาพวัคซีนกับสายพันธุ์โอไมครอน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

4.บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

โฆษกของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยืนยันว่า กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนกับสายพันธุ์โอไมครอน.

Share :