Loading...
Uncategorized

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ม.อ. พิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนและสังคม

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับ รางวัลชมเชยจากการคัดเลือกรางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น (Museum Thailand Awards 2021) และได้รับรางวัลพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนและสังคม ประจำปี 2564 (The Best Museum for Community Awards 2021)
 
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หน่วยงานภายในของสำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการคัดเลือกพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้เพื่อเข้ารับรางวัล “พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น ประจำปี 2564” โดยในปีนี้ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษาสยามบรมราชกุมารี ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลชมเชยจากการคัดเลือกรางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น (Museum Thailand Awards 2021) และได้รับรางวัลพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนและสังคม ประจำปี 2564 (The Best Museum for Community Awards 2021) ภายใต้แนวความคิด “Reimage Relearn Reinvent : เปลี่ยนร่าง เปลี่ยนรู้ เปลี่ยนชีวิต ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19”
 
โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ปิดให้เข้าชมในส่วนนิทรรศการชั่วคราว แต่ยังเป็นส่วนเชื่อมต่อข้อมูลทางด้านวิชาการและสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน ตลอดจนบุคคลทั่วไป ให้เข้าถึงธรรมชาติวิทยาได้ง่ายขึ้นในรูปแบบสื่อออนไลน์ต่างๆ อาทิ Virtual Museum, Youtube Channel, Motion graphics, Interactive Website และ Infographics ต่างๆ ที่สื่อออกมาให้เข้าใจง่ายและทำให้ผู้รับชมสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาได้มากขึ้น

พิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย (Biological worlds of peninsular Thailand) แบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่กำเนิดของจักรวาล โลกของเรา วิวัฒนาการความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศเด่นในภาคใต้ รวมไปถึงนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้สาธารณชนได้ความรู้ที่หลากหลาย และทันสมัย จุดเด่น คือ “แหล่งเรียนรู้-วิจัย-อนุรักษ์บนคาบสมุทรไทย”

การเล่าเรื่องเนื้อหานิทรรศการที่ครอบคลุมและลึกซึ้งโดยนักวิจัยผู้รู้จริงในแต่ละเรื่อง ควบคู่กับคลังตัวอย่างอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะตัวแทนสิ่งมีชีวิตในคาบสมุทรไทย รวมทั้งการศึกษาทางอนุกรมวิธาน และ กิจกรรมวิจัยตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่นถึงนานาชาติ โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนในด้านการอนุรักษ์และเข้าใจถึงความสำคัญด้านธรรมชาติวิทยาให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งในงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาข้อมูลฐานตัวอย่างอ้างอิง การสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อยกระดับพิพิธภัณฑ์ฯมุ่งสู่ระดับสากลต่อไป

Share :