Loading...
Uncategorized

ชวนคนรุ่นใหม่ สู้ภัยข่าวปลอม Fake News

ข่าวปลอม-ข่าวลวง (Fake News) แม้จะไม่ใช่ปัญหาใหม่ เพราะมีมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มอยู่กันเป็นสังคมและสื่อสารระหว่างกัน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อินเทอร์เน็ต-สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพ เช่น การโฆษณาชวนเชื่อหลอกขายเครื่องสำอาง ยาและอาหารเสริม อวดอ้างสรรพคุณวิเสษสารพัดอย่าง ยิ่งปัจจุบันที่โลกเผชิญวิกฤต “โควิด-19″ข่าวปลอมก็ยิ่งเพิ่มจำนวนและทวีความซับซ้อนมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องของสารพัดวิธีรักษาโควิด ไปจนถึงคำแนะนำไม่ให้ฉีดวัคซีนด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการควบคุมโรค

“ข่าวลวงในเรื่องโควิดกับวัคซีน เป็นประเด็นใหญ่มากที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แล้วการศึกษาวิจัยพบว่า การแพร่กระจายของข่าวลวง-ข่าวปลอมโควิดหรือวัคซีนมันเร็วมาก เร็วกว่าข่าวปกติ 6-7 เท่า ถึงเรียกว่าเป็น Infodemic Information (ข้อมูลข่าวสาร) บวก Pandemic (โรคระบาด) ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดว่าวันนี้ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม”

ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวในงานแถลงข่าว (ออนไลน์) โครงการแข่งขันระดมสมองเชิงลึกกลุ่ม เยาวรุ่น “FACTkathon: Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม”เมื่อช่วงกลางสัปดาห์นี้ โดยเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน อาทิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สถาบันเชนท์ฟิวชั่น และ มูลนิธิฟรีดริชเนามัน ประเทศไทย “คุณสมบัติของผู้ร่วมการแข่งขัน”เป็นนิสิต-นักศึกษาคณะที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน แต่สามารถร่วมกับคณะอื่นๆ ได้ โดยรวมทีมกันไม่เกิน 5 คน และมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน ทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 5 หมื่นบาท รองชนะเลิศอันดับ 1 3 หมื่นบาท รองชนะเลิศอันดับ 2  2 หมื่นบาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัล Popular Vote (ยอด Like และ Share) อีก 2 รางวัล รางวัลละ 1 หมื่นบาท

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรม Hackathon ระดมสมองเชิงลึก หักล้างข้อมูลเท็จ-แสวงหาความจริงร่วม เป็นการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ทำงานร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ องค์กรผู้บริโภค และสื่อมวลชน พัฒนาต้นแบบกลไกการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับสื่อมวลชนและพลเมืองในยุคดิจิทัล ในการรับมือ ต่อปัญหาข่าวปลอม-ข่าวลวงอย่างชาญฉลาด ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 ข่าวปลอมจะส่งผลกระทบทั้งการรักษา การฉีดวัคซีน ไปจนถึงการฟื้นฟู จึงจำเป็นต้องช่วยกันขจัดข่าวปลอม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

เช่นเดียวกับ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ร้อยละ 95 ของผู้ใช้สื่อออนไลน์จะพบกับปัญหาข่าวปลอม จึงจำเป็นต้องมีกลไกตรวจสอบและตอบโต้ข่าวปลอมให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงที แต่เหนื่อสิ่งอื่นใด การทำให้แต่ละคนมีทักษะ “คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ” และตรวจสอบข่าวปลอม อันเป็นการจัดการตั้งแต่ต้นทางก็เป็นเรื่องสำคัญ

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเชนท์ฟิวชั่น และผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) อธิบายความหมายและความสำคัญของคำว่า “ความจริงร่วม” กล่าวคือ ในสังคมโดยเฉพาะยุคปัจจุบัน แต่ละคนมีความคิดอยู่ฐานความเชื่อที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นช่วงวัย พื้นที่ ฐานะ ดังนั้นแม้จะเป็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่คนคนหนึ่งอาจ มองอย่างหนึ่งส่วนอีกคนก็อาจมองไปอีกมุมหนึ่ง และเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาความจริงได้ทุกมิติอาจนำไปสู่ ความขัดแย้งรุนแรง การที่จะอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน จึงต้องมีความจริงร่วมบางอย่างที่สามารถพูดคุยกันได้

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) และอดีตคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงขั้นตอนการสมัครและคัดเลือกให้เหลือ 5 ทีมสุดท้ายว่า เบื้องต้นต้องตอบคำถามหรือเสนอความคิดเห็นใน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับนวัตกรรมในการแก้ปัญหาข่าวปลอม-ข่าวลวง 2.แนวทางการแสวงหาความจริง ร่วมที่คิดว่าได้ผล 3.แนวทางการส่งเสริมความเป็น พลเมืองดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ 4.บทบาทสื่อมวลชนในการแก้ปัญหาข่าวปลอม-ข่าวลวง และ 5.ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ตลอดจนผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ควรมีส่วนร่วมหรือดำเนินการอย่างไรกับการแก้ปัญหา

Share :