มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ และ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ นักวิจัยประจำสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ร่วมแถลงข่าว “ม.อ. นำร่องพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่เพื่อคนไทย” และ “การประชุมวิชาการพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1” หลังมีการประกาศเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยจัดให้พืชกระท่อมไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 สร้างความสนใจแก่ประชาชนรวมถึงวงการสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ณ ห้องประชุม 210 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook : @psuconnext เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 64
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุนทร วงษ์ศิริ กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ และมีนักวิจัยที่ศึกษาค้นคว้า ทำงานวิจัยทางด้านพืชกระท่อม ตั้งแต่ปี 2546 และได้สั่งสมองค์ความรู้อย่างมากมายและเป็นหลักในการพัฒนาต่อยอดพืชกระท่อม เพื่อช่วยส่งเสริม พัฒนา และเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาพืชกระท่อม โดยได้มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องกระท่อม ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดถึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในเรื่องพืชเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ เราพร้อมที่จะให้ประชาคมภายนอกได้รู้ว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะทำหน้าที่ของการเป็นสถานศึกษาที่พัฒนาทุกองค์ความรู้ และช่วยเหลือสังคมในทุกด้านต่อไป ซึ่งถึงแม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้มีการครอบครอง ซื้อ/ขาย หรือนำมาบริโภคได้อย่างเสรีแล้ว แต่ยังคงมีข้อห้ามที่ผู้นำไปใช้ต้องศึกษาอย่างระมัดระวัง และควรต้องมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดทิศทางและนโยบายด้านพืชเสพติด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือ ดูแลชุมชน ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นการกลั่นกรองเบื้องต้น มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดทิศทางและนโยบายด้านพืชเสพติด เพื่อดำเนินการวางแนวทางความร่วมมือด้านพืชกระท่อมร่วมกับชุมชนและสังคม เมื่อชุมชน วิสาหกิจชุมชน หรือเอกชน มีความประสงค์ในการพัฒนาพืชกระท่อม ปลูก ผลิตเป็นพืชเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัย สามารถแจ้งความต้องการผ่านคณะหน่วยงานใดก็ได้ในมหาวิทยาลัย ทุกความต้องการของท่านจะถูกส่งต่อมายังคณะกรรมการฯ เพื่อดูแลให้การดำเนินการเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย