Loading...
Uncategorized

ม.อ. เดินหน้า “สุวรรณภูมิศึกษา” เรียนรู้ความรุ่งเรืองในอดีตที่อาจหวนกลับมาอีกครั้ง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “สุวรรณภูมิกับความท้าท้าย” ในระบบออนไลน์ โดยวิทยากรผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต ขาวเขียว  ศาสตราจารย์ ดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา เป็นผู้นำเสวนา และ  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานและร่วมการเสวนา

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีนโยบายส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โดยได้จัดตั้ง “วิทยสถานธัชชา” ซึ่งแปลว่า “ธงชัย” และมีสถาบันสุวรรณภูมิศึกษาเป็นหนึ่งในห้าสถาบันนำร่อง  เนื่องจาก “ดินแดนสุวรรณภูมิ” มีการถูกกล่าวถึงในบันทึกของนานาชาติมาหลายพันปี เป็นอารยธรรมที่อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์มาแต่ดึกดำบรรพ์และเป็นจุดที่โลกโบราณมาพบกัน โดยในปี 2558 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISDA ได้ริเริ่มทำการศึกษาเรื่องสุวรรณภูมิศึกษา และขอให้หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เชิญนักวิชาการไทยและทั่วโลกมาให้ข้อมูลเพื่อรวบรวมผลงานชุดความรู้ใหม่เรื่อง “สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก”
 
และเมื่อวิทยสถานธัชชา มีความพร้อมที่จะทำการขับเคลื่อน สถาบันสุวรรณภูมิศึกษาจึงได้จัดให้มีการเสวนาทางวิชาการ “สุวรรณภูมิกับความท้าทายใหม่” ขึ้น เพื่อเป็นการรวมรวมแนวคิดเพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนนำวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาสู่การพัฒนาประเทศ เชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนและโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และเปิดประเด็นชี้ชวนให้เกิดความสนใจในการร่วมกันศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคกันอย่างจริงจัง

ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาประเทศว่าจะมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก และ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเน้นการพัฒนาวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และนักวิชาการส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการผลิตผลงานทางวิชาการเพื่อการตีพิมพ์เพื่อเป็นตัวชี้วัดคุณภาพเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ แต่ในเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมมีค่อนข้างน้อย

ในโลกปัจจุบันวงจรแห่งอารยธรรมที่เคยมีในอดีต เช่นเรื่องของการเมืองเศรษฐกิจสังคมกำลังหมุนกลับมาที่เอเชีย ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่จึงไม่เพียงแต่การนำเสนอเรื่องราวความรุ่งเรืองในอดีตเท่านั้น แต่ต้องมีการสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจและความเข้าใจในวัฒนธรรมให้คนในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตามในการพัฒนาเพื่อความเข้าใจเรื่องสุวรรณภูมิศึกษา จะยังใช้กระบวนทัศน์ มุมมองวิธีคิดเก่าๆ เพื่อจะไปตอบสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคงไม่ได้ผล จึงต้องมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัดการและการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ใหม่ด้วย

เรื่องสุวรรณภูมิแม้ยังมีความคิดที่ต่างกันในนิยามเชิงพื้นที่ ระยะเวลา แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับมาที่เอเชียอาคเนย์มากขึ้น  ในส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาก่อนจะเกิด “ธัชชา” โดยได้มีการร่วมกับผู้มีความรู้และเครือข่ายนักวิชาการที่ทำเรื่องสุวรรณภูมิศึกษา มีการจัดประชุมวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ เพื่อยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นที่สนใจในระดับสากล  มีการคิดถึงการจัดทำหลักสูตรเพื่อสร้างนักประวัติศาสตร์ในเรื่องสุวรรณภูมิ โดยเริ่มจากการทำวิจัย สร้างฐานข้อมูลและคลังความรู้ และบูรณาการให้กับนักศึกษา
 
“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เชื่อว่าในอดีตพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นอู่อารยธรรมที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนใหญ่ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนทั้งทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรม และมุ่งหวังให้ภาคใต้เป็นสะพานเชื่อมของทุกพื้นที่ในเรื่องของสุวรรณภูมิไปจนถึงคาบสมุทรมลายู โดยเราจะเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อไปโดย “ธัชชา” จะเป็นส่วนเสริมให้ความต้องการของมหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จได้สมบูรณ์ขึ้น” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ กล่าว
Share :