เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 รศ. ดร.จรัสศรี นวลศรี หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า โครงการได้รับงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ให้เริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากในช่วงดังกล่าว มีผลกระทบต่อการลงพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ต้องปรับแผนการทำงาน อีกทั้งผลไม้ชนิดต่างๆ ในพื้นที่เริ่มติดผล ปีนี้ผลไม้หลายชนิด เช่น เงาะ และมังคุด ติดผลจำนวนมาก ด้วยสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ตัวอย่างเช่น เงาะ เฉพาะในพื้นที่ตำบลเขาพระคาดว่ามีผลผลิตประมาณ 800-900 ตัน การระบายผลผลิตออกนอกพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก แม่ค้าที่เคยมาซื้อผลไม้หายหน้าไป เนื่องจากการล๊อคดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด จากการระบาดของโควิด-19 ตลาดท้องถิ่น และตลาดนัดส่วนใหญ่ถูกปิด การส่งสินค้าไปตลาดผลไม้ใหญ่ของประเทศ เช่น ตลาดไทที่กรุงเทพมหานครก็มีปัญหาการขนส่ง ทางโครงการจึงจัดการส่งเสริมให้มีการขายออนไลน์ เป็นทางเลือก แต่ยังมีปัญหาตามมา เมื่อบริษัทรับขนส่งสินค้า ไม่บริการรับส่งผลไม้ ทำให้ราคาผลไม้ เงาะ มังคุด ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ โครงการฯ จึงได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร นำผลผลิตจากสวนส่งตรงถึงตลาดเกษตร ม.อ. ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในช่วงวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เพื่อส่งต่อถึงลูกค้าที่สั่งสินค้าล่วงหน้า และผู้มาซื้อที่ตลาด นอกจากนี้ยังได้ช่วยเกษตรกรเปิดช่องทางการขายผ่านเพจ PSU Bazaar ของมหาวิทยาลัย ร่วมกับ เพจ Local Life Platform มีการ live สด ขายผลไม้ และ แอปพลิเคชั่น OneChat เมื่อมีการสั่งซื้อ ก็มีไรเดอร์บริการไปส่งให้ถึงบ้าน ในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมทั้งแนะนำการขายออนไลน์ผ่านเฟสบุคให้กับลูกหลานเกษตรกร การขายผ่านช่องทางต่างๆ ที่กล่าวมานี้ นอกจากเป็นการช่วยระบายสินค้าให้กับเกษตรกรแล้ว ยังมีผลให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตจากสวนในราคาที่สูงกว่าการขายกับพ่อค้าคนกลาง 5-10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้ผลผลิตผลไม้ เริ่มลดน้อยลง สถานการณ์ด้านการตลาดและราคาก็ดีขึ้นเป็นลำดับ