Loading...
Uncategorized

“สงขลานครินทร์” ใช้ STEM เสริมกระบวนการคิดที่เป็นระบบ สร้างบัณฑิตให้รู้จักปรับตัวสู่อนาคต

ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการขับเคลื่อน STEM Education ทั้งระดับบุคคลและหน่วยงานในทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย เพื่อนำมาบูรณาการกับการเรียนการสอน และเชื่อมโยงการเรียนรู้กับประเทศเพื่อนบ้านโดยการทำความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิธีการ กระบวนการ ทั้งกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนในเครือข่าย IMT-GT UNINET และกับประเทศยุโรปตามโครงการของ EU เพื่อการศึกษา การฝึกอบรม เยาวชนและกีฬา หรือ Erasmus ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีโอกาสสร้างความร่วมมือและร่วมประชุม ทำให้มีโอกาสรับทราบมุมมองและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์จากทั้งทุกเครือข่ายเพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนเพื่อจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษา
 
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังได้รับความช่วยเหลือจากราชอาณาจักรบาห์เรน ในการจัดตั้งศูนย์ STEM เป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่มีภารกิจเพื่อสร้างให้บุคลากรได้มีความรู้เรื่องการเรียนการสอนแบบ active learning เป็นการสอนเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการนำ STEM มาร่วมในกระบวนการนี้ด้วย 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โอภาส เกาไศยาภรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แม้ว่า STEM Education คือ แนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเน้นแต่เฉพาะวิชาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นการบูรณาการการใช้ศาสตร์เหล่านี้เพื่อมาประกอบในการใช้ชีวิต และทำให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษา และสามารถปรับกระบวนการเพื่อใช้ในสาขาอื่นนอกเหนือจาก 4 สาขานี้ได้ และสุดท้ายคือการนำไปบูรณาการกับการทำงานและการใช้ชีวิตทั่วไปได้ 
 
นอกจากด้านการเรียนการสอนแล้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังกำลังจะนำแนวคิดของ STEM Education มาพัฒนาสำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลงอรรถกระวีสุนทร หรือ หอสมุดของวิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อให้เป็น smart library ที่สามารถใช้บริการได้จากทุกที่และตลอดเวลา มีระบบบริการที่ดี สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา เป็นทั้งพื้นที่ทั้งสำหรับเรียนรู้ ปฏิบัติการณ์และพักผ่อน ด้วยการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ การพัฒนาทักษะบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน การหากลไกมาขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และแผนงาน การแสวงหาคู่ความร่วมมือที่มีศักยภาพ เพื่อให้ผู้มาใช้บริการพอใจและได้สิ่งที่ตนเองคาดหวังกลับไป
“STEM Education ทำให้เกิดการเรียนการสอนในเชิงรุก ไม่ใช่การท่องจำเป็นหลักเหมือนเมื่อก่อน ทำให้เกิดการยั่งยืน ถ้ามหาวิทยาลัยเพียงแค่สอนเนื้อหาให้นักศึกษา เขาก็ได้แค่เนื้อหาแต่ไม่รู้จักวิธีการปรับเพื่อใช้ให้ทันยุคสมัย เพราะจะมีการเกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นตลอดเวลา แต่ถ้าเรามีการเสริมให้เขารู้จักการคิดวิเคราะห์ การลงมือปฏิบัติ มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ มีเหตุผล เราก็จะได้บัณฑิตที่มีความรอบรู้ในการทำงาน สามารถปรับตัวเข้ากับงานและเพื่อนร่วมงานได้ ซึ่งเป็นผลดีในระยะยาว และนี่คือประโยชน์ที่ STEM สร้างให้เกิดขึ้น” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา กล่าว
 
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะสมาชิก IMT – GT UNINET จะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “The 2nd SEA-STEM International Conference (Virtual)” ระหว่างวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนวัตกรรมและความก้าวหน้าด้านการวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตลอดจนเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง IMT – GT UNINET กับมหาวิทยาลัยในเครือข่าย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสมาชิกในเครือข่าย IMT – GT UNINET – STEM
 
โดยกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ 
 
  • Professor Dr.Valentina Dagiene, University in Vilnius, Lithuania
  • Associate Professor Dr. Hizir, Universitas Syiah Kuala, Indonesia
  • Professor Dr.Dato’ Noraini Idris National STEM Movement, Malaysia
  • Dr.Mechai Viravaidya The founder, The Population & Community Development Association, Thailand
  • Mr.Miroslav Kostecki Pro-Vice Chancellor Central University of Bamenda (CUIBA) Technology Transfer CTO STEMSEL Foundation Inc, Australia
  • Professor Dr. Jintavee Khlaisang Chulalongkorn University Vice president, Thailand Association for Educational Communication and Technology
และการนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้หัวข้อ ดังต่อไปนี้
 
  • Technology-Enhanced STEM Teaching and Learning
  • Pedagogical Modes and Applications of STEM Education
  • Skills & Re-Skills Development for STEM Literacy
  • Curriculum Studies and Development Focused STEM Education
  • Industry linkages and partnerships
  • Interdisciplinary Curriculum Development
  • Other related topics to STEM education
 
ผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 15 กันยายน 2564 รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Ms. Chongchit Ratyot International Affairs Officer, PSU Tel: +66 81 598 8871, +66 7428 2253 E-mail: stem2021@g.psu.ac.th และ Website: https://stem.psu.ac.th
Share :