Loading...
Uncategorized

ฝึกหายใจ บริหารปอดในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณปอดได้เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะสำคัญของระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นการบริหารปอดช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพปอดทำได้ด้วยการฝึกการขยายตัวของปอดยืดเหยียดกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อกระบังลม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยบรรเทาอาการความรุนแรงและสามารถช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยติดเชื้อได้

คุณจตุพร  จาตุรวาณิช และคุณภัททิยาภรณ์ ทองแดง นักกายภาพบำบัด หน่วยกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ร่วมให้ข้อมูลสำหรับการฝึกหายใจสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 (ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว) ว่าโดยปกติการหายใจเข้า-ออกเป็นการตอบสนองของร่างกายแบบอัตโนมัติ ซึ่งการหายใจออกไม่จำเป็นต้องใช้แรง เนื่องจากมีแรงดันภายในปอดมากกว่าภายนอก การฝึกหายใจ โดยหายใจเข้าให้ท้องป่องและหายใจออกให้ท้องยุบ แนะนำให้ปฎิบัติให้ชิน และสามารถนำการฝึกหายใจปฏิบัติร่วมด้วยกับทุกขณะในการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การฝึกหายใจจะทำให้ลดอาการที่จะนำไปสู่ความรุนแรงหรืออาการรุนแรงของโรคลดลง เป็นการเพิ่มความแข็งแรงของปอดและหากมีอาการหอบเหนื่อยผู้ป่วยสามารถควบคุมเองได้

การฝึกหายใจสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19

1. ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง มักจะมีอาการหอบเหนื่อยตลอดเวลา ดังนั้นแล้วจึงมีการแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกหายใจเพื่อช่วยให้อาการหอบเหนื่อยลดลง โดยเมื่อหายใจออกให้ยาวมากขึ้นและมีสมาธิจดจ่อในการหายใจออกก็จะช่วยลดอัตราการหายใจ เช่น ปกติก่อนการฝึกหายใจอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ป่วยจะอยู่ที่ประมาณ 30 – 40 ครั้งต่อนาที หากได้มีการฝึกหายใจจะส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในสภาวะปกติได้

โดยการหายใจเข้าทางจมูกประมาณ 3 วินาที และหายใจออกทางปาก ประมาณ 1-5 วินาที (ขณะหายใจออกให้ห่อปากจะช่วยลดอาการตีบแฟบของหลอดลม เนื่องจากขณะห่อปากจะมีแรงดันในปากช่วยให้ไม่มีอาการตีบแฟบของหลอดลม กรณีมีภาวะอาการตีบแฟบของหลอดลมได้ง่าย)

**วิธีการที่จะทำให้ทราบว่าหายใจยาว คือ ให้นำทิชชูหรือกระดาษบางๆ ถือไว้ด้านหน้าขณะหายใจเข้า-ออกและ สังเกตความพลิ้วไหวของทิชชูหรือกระดาษ

2. ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เริ่มต้นด้วยท่านั่งเอนพิงพนัก มือข้างหนึ่งจับใต้ลิ้นปี่และอีกข้างหนึ่งจับบริเวณหน้าอก โดยมีวิธีการฝึกหายใจ 3 ท่า ดังนี้

  • ท่าที่ 1 การหายใจเข้า ท้องป่อง หน้าอกยกและหายใจออก ท้องยุบ หน้าอกยุบ

(อย่างน้อย 5-10 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 5 ครั้งต่อ 30 นาที *ข้อควรระวังสำหรับการหายใจเข้าลึก คือ ไม่ควรหายใจเข้าลึกมากจนเกินไป เพราะจะส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณคอยกเยอะเกินไป)

  • ท่าที่ 2 การฝึกหายใจเพื่อเพิ่มการขยายตัวของปอด โดยเน้นปอดส่วนล่าง (บริเวณชายโครง) หายใจเข้าให้นับ 1-3 แล้วหายใจออก ขณะที่หายใจเข้าควรลึกแต่ไม่ควรลึกจนกระทั่งกล้ามเนื้อบริเวณคอยกตั้งเกินไปสังเกตว่าหากหายใจเข้าจะทำให้ชายโครงมีการขยายออกและหากหายใจออกชายโครงจะยุบลง
  • ท่าที่ 3 การฝึกหายใจเพื่อเพิ่มการขยายตัวของถุงลม โดยการหายใจเข้า ค้างไว้ประมาณ 5 วินาทีและหายใจออกค้างประมาณ 5 วินาที แต่หากหายใจค้าง 5 วินาทีไม่ไหวก็สามารถหายใจค้าง 3 วินาทีได้

ทั้งนี้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้รับเชื้อโควิด-19 สามารถฝึกควบคู่การออกกำลังกายได้เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นเครื่องมือประเมินเพื่อวินิจฉัยอาการป่วยของตนเอง ยกตัวอย่าง เช่น หลังจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เมื่อได้ออกกำลังกายรู้สึกว่าขีดความสามารถในการออกกำลังกายลดลงเมื่อเปรียบเทียบก่อนการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งผู้ป่วยสามารถรายงานข้อมูลดังกล่าวให้คุณหมอหรือพยาบาลที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อทำการประเมินผู้ป่วยในขั้นถัดไปได้ อีกทั้งโดยปกติสุขภาพร่างกายจะลดลงตามอายุ ยิ่งอายุมากยิ่งขึ้นจะทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อปอดและกล้ามเนื้อหายใจลดลง ดังนั้นการฝึกหายใจจะเป็นการช่วยให้ปอดคงสภาพความแข็งแรงหรือเสื่อมสภาพช้าที่สุด

Share :