คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน “สถาบันตัวอย่าง” ด้านการเรียนการสอนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จากเครือข่ายการศึกษา 5 วิชาชีพ ได้แก่ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ จัดโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะเภสัชศาสตร์ ได้นำเสนอผลงานร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ ในงานประชุมสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “RDU teacher for RDU country” เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 64 ผ่าน Application Cisco Webex Meetings โดย ผศ. ดร. ณัฐาศิริ ฐานะวุฑฒ์ และ ผศ. ดร. สุทธิพร ภัทรชยากุลมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันนำเสนอ
ผศ. ดร. ณัฐาศิริ ฐานะวุฑฒ์ และ ผศ. ดร. สุทธิพร ภัทรชยากุลมี กล่าวว่า หลักเกณฑ์การคัดเลือกสถาบันการศึกษาตัวอย่าง ได้แก่
1. มีนโยบาย แนวทางปฏิบัติและการติดตามการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อส่งแสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความสำคัญกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และความปลอดภัยในการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยนำหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและปลอดภัยมาใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องให้กับนักศึกษาทั้ง 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหกรรม และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม
2. กำหนดให้การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเป็นผลการเรียนรู้ (Learning outcome) หรือสมรรถนะ (Competence) หนึ่งของผู้สำเร็จการศึกษา และมีการจัดการเรียนการสอนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร ทั้งในระดับปรีคลินิก และระดับคลินิก โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำหนดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังในหลักสูตร ในการจัดการเรียนการสอนได้นำหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและปลอดภัยสอดแทรกในชั้นปีต่างๆ ตลอดหลักสูตร อีกทั้งแทรกเนื้อหาเข้าไปในกลุ่มวิชาเภสัชกรรมบำบัด (Pharmacotherapy) และเภสัชกรรมจ่ายยา (Dispensing pharmacy) และกลุ่มวิชาสารสนเทศทางยาและประยุกต์ใช้ (Drug information)
3. มีวิธีการจัดการเรียนการสอนโดนเน้น active learning และลักษณะของ problem-based pharmacotherapy ตลอดจนส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในลักษณะของสหวิชาชีพ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีทั้งบรรยาย active learning, problem-based pharmacotherapy และการเรียนการสอนในลักษณะของสหวิชาชีพ (interprofessional education; IPE)
คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ได้จัดให้มีการเรียนการสอนแบบ IPE (PSU Model) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นมา โดยจัดให้นักศึกษาเภสัชชั้นปีที่ 5 นักศึกษาแพทยศาสตร์ชั้นปีที่ 6 และนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีความพร้อมด้านวิชาการและเข้าใจบทบาทวิชาชีพของตนเองได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน
4. มีการพัฒนาอาจารย์เกี่ยวกับการสอนการใช้ยาอย่างสมเหตุผลอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ซึ่งคณะฯ มีนโยบายให้อาจารย์เข้ารับการอบรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และจัดประชุมวิชาการประจำปีเพื่อ update ความรู้เรื่องหลักการใช้ยาในการรักษาโรคติดเชื้อ การใช้ยาในโรคเรื้อรัง และการใช้ยาในผู้ป่วยวิกฤต เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
5. มีการประเมินสมรรถนะด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของนักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษา อาทิ ประเมินสมรรถนะด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของนักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาในปี 2562 และ 2564 โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาหลักสูตรและความปลอดภัยของผู้ป่วยในสถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์ ประเมินภาพรวมของคณะเภสัชศาสตร์ 19 สถาบัน ซึ่งในปี 2564 มีนักศึกษาชั้นปีที่ 6 ของ ม.สงขลานครินทร์ตอบแบบสอบถาม 100% ทั้งสองหลักสูตร