คุณปฐมพร พริกชู ผช.ผอ.สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ต้นปี 2565 จังหวัดสงขลาพบผู้ป่วยไข้มาลาเรีย 45 ราย ไข้มาลาเรีย( Malaria) เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียมที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ มี 5 ชนิด คือ
Plasmodium Falciparum ( Pf ) Plasmodium Vivax ( Pv ) Plasmodium Malariae ( Pm ) Plasmodium Ovale ( Po ) และ Plasmodium Knowlesi ( Pk ) ชนิดที่ 1 Pf อาการค่อนข้างรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิต แต่รักษาได้ด้วยการกินยาประมาณ 3 วัน ชนิดที่ 2 Pv อาการไม่รุนแรง โอกาสเสียชีวิตต่ำ แต่รักษายาก เรื้อรัง ต้องกินยาประมาณ 14 วัน ชนิด Pm และ Po เจอแถบโซนทวีปแอฟริกา และชนิดที่ 5 ชนิดโนวไซ หรือ Pk เจอบ้างประปรายในประเทศไทย แต่ยังเป็นการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ซึ่งคุณปฐมพร กล่าวว่าเจอในประเทศครั้งแรกเมื่อปี 2559 ที่ยะลา ในกลุ่มชาวบ้านหาของป่า ซึ่งข้อมูลระดับโลกยังไม่พบว่าโนวไซแพร่จากคนสู่คนได้ แต่เป็นการแพร่จากลิงสู่คนโดยยุงก้นปล่องเป็นพาหะ
อาการของไข้มาลาเรียมีส่วนคล้ายกับไข้ชนิดอื่น และอาจเจอทั้งมีและไม่มีอาการจับสั่น คุณปฐมพรย้ำว่า การถามประวัติผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สอบประวัติว่าเคยไปพื้นที่การระบาด หรือแพร่เชื้อไข้มาลาเรียหรือไม่ หรือมีถิ่นที่อยู่บริเวณแนวป่า หรือใกล้บริเวณระบาดไข้มาลาเรียหรือไม่ หรือแม้แต่กิจกรรมตั้งแค้มป์ ท่องเที่ยวป่าที่กำลังเป็นที่นิยม นักท่องเที่ยวควรศึกษาข้อมูลก่อนว่าเคยเป็นแหล่งแพร่เชื้อมาลาเรียหรือเปล่า ถ้ามีต้องป้องกันให้ดียิ่งขึ้น หลักสำคัญคือป้องกันตนเองโดยใช้ยาทากันยุงซึ่งหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป นอนในมุ้ง สวมเสื้อผ้ามิดชิด หรือแม้แต่หลังจากกลับจากการท่องเที่ยวภายใน 14 วันให้สังเกตอาการ มีไข้ หนาวสั่น หรือมีอาการที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้สงสัยก่อนว่าเป็นมาลาเรีย ให้รีบพบแพทย์ใกล้บ้านและแจ้งประวัติอย่างครบถ้วนว่าไปพื้นที่ไหน เมาแล้วกี่วัน ไข้มาลาเรียรู้เร็ว รับยาเร็ว รักษาหายได้