Loading...
Uncategorized

สป.อว. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ที่ ม.อ.

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) นำโดย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สป.อว. รองศาสตราจารย์รัฐชาติ มงคลนาวิน คณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย และคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลการดําเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เป็น 1 ใน 13 สถาบันอุดมศึกษาที่ ได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินงานโครงการฯ โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวต้อนรับ ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวสรุปภาพรวมการดำเนินงาน ณ ห้องประชุม 210 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565

โดยมีการรายงานความคืบหน้าในการดําเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2564 ในโครงการ PSU Open Mobility เพื่อพัฒนาความร่วมมือกับนานาชาติในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม โดย ผศ. ดร.วงศ์กฏ ภู่ภูมิรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และโครงการวิทยาศาสตร์ดิจิทัล เพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดย รศ. ดร.แสงสุรีย์ วสุพงศ์อัยยะ รองผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน

ผศ. ดร.วงศ์กฏ ภู่ภูมิรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ผ่านการพัฒนาความร่วมมือกับนานาชาติ ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการย่อย ได้แก่ 1. โครงการยกระดับหลักสูตรสู่การรับรองระดับนานาชาติ ซึ่งมีหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่กำลังเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานระดับนานาชาติ อาทิ AUNQA และ AACSB รวมถึงมีการร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตร Double Degree และ Non Degree โดยมุ่งเป้าในการยกระดับให้มีมาตรฐานเทียบเท่ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณการทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยชาวต่างชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตงานวิจัยขั้นสูง
 
    2. โครงการ PSU Open Mobility ประกอบด้วย 4 กิจกรรมย่อย ได้แก่ Virtual exchange ซึ่งสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการเรียนรู้แบบ interactive learning ร่วมกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ, International Virtual seminar จัดสัมมนาโดยอาจารย์ชาวต่างประเทศในระดับศาสตราจารย์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และสร้างบันดาลใจให้กับนักศึกษา และคณาจารย์ในการสร้างงานวิจัยในระดับ Frontier research, Virtual visiting professor จัดกิจกรรมวิชาการ-วิจัย ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับนักศึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ, และ World Class Self Learning (MOOC) ซึ่งสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากร พัฒนาตนเองผ่าน online course ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยใช้ Platform ที่มีมาตรฐานระดับสากล
 
    3. โครงการการพลิกโฉมการยอมรับในระดับสากล (Reinventing Global Visibility) โดยร่วมกับ Quacquarelli Symonds Ltd (QS) และ Taylor’s University สหพันธรัฐมาเลเซีย จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ QS Subject Focus Summit Hospitality and Leisure Management ภายใต้หัวข้อ “Sustainable and Resilient Solutions in Tourism Today” และเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ QS APPLE 2021 โดยมี Hong Kong Baptist University ประเทศฮ่องกง และ Quacquarelli Symonds Ltd (QS) เป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อ “Future Rebalance: Emerging trends and workforce in the Asia Pacific” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,500 คน จากทั่วโลก
 
    และ 4. โครงการความเป็นนานาชาติภายในมหาวิทยาลัย : ส่งเสริมศักยภาพพลเมืองโลกเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย (Internationalization at Home : Enhancing Global Competency for innovation creativity and research) โดยการจัดโครงการ Young Global Affairs and Corporate Communication (PSU Young GACC) มีนักศึกษาชาวไทยและต่างประเทศ จาก 5 วิทยาเขต เข้าร่วมโครงการ 2,406 คน
 
    “จากการขับเคลื่อนโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็น 1 ใน 8 สถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคเอเชีย ที่เข้าชิงรางวัล “THE Award Asia 2022” ด้าน International Strategy of the Year ซึ่งจัดโดย Times Higher Education หรือ THE สำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่มีชื่อเสียงจากประเทศอังกฤษ และจะมีการประกาศผลรางวัลชนะเลิศในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 นี้” ผศ. ดร.วงศ์กฏ กล่าว
ด้าน รศ. ดร.แสงสุรีย์ วสุพงศ์อัยยะ กล่าวว่า โครงการวิทยาศาสตร์ดิจิทัล เพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาเศษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการจัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ดิจิทัล และเพื่อประยุกต์ใช้นวัตกรรมดิจิทัลสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมดิจิทัลทวินเพื่อการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน และกิจกรรมการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
 
    โดยโครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ดิจิทัลเป็นต้นแบบการบริหารงานโครงสร้างเสมือน เพื่อบูรณาการบุคลากรใน 5 วิทยาเขต โดยดำเนินการ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับเบื้องต้น โดยการผลิตสื่อออนไลน์ทางด้านดิจิทัลให้บุคคลทั่วไป, ระดับปฏิบัติการ โดยการอบรมเพื่อ Upskill และ Reskill ทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล เน้นวิทยาการข้อมูลหรือ data science ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านการแพทย์ ด้านการท่องเที่ยว และด้านการเกษตร และระดับสูง โดยการเปิดหลักสูตร data science ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
 
    กิจกรรมดิจิทัลทวินเพื่อการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน เป็นการให้ข้อมูลด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อผลักดันการท่องเที่ยว โดยการรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเพื่อเข้าสู่ระบบ เรียกว่า Digital Twin For Andaman Tourism เพื่อส่งเสริมในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน และสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยมี 5 โครงการหลัก ได้แก่ แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวตามแนวคิดดิจิทัลทวิน ระบบแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวและวางแผนการเดินทาง ระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชน ระบบรวมปัญหาและตอบกลับข้อร้องเรียนโดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ และระบบการจัดการและบริหารการท่องเที่ยว
 
    และกิจกรรมการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ดิจิทัลเพื่อนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นการสร้างต้นแบบที่เป็นระบบที่ใช้นวัตกรรมทางด้านดิจิทัลในการบริหารจัดการการประมง โดยการเพาะเลี้ยงปลานิลทะเลและปลากระพงขาว ตั้งแต่ระบบการเพาะเลี้ยง การแปรรูปและเก็บรักษา และการตลาดและโลจิสติกส์
Share :