จากรายงานของกรมอนามัยถึงกรณีที่มีจำนวนเด็กเล็กติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น และกว่า 90% มีอาการไม่รุนแรง แต่มีกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ปกครองและคนใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ของคนในครอบครัว
ศ.พญ.กมลวิช เลาประสพวัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวว่าปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กว่า 90% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน พบเชื้อค่อนข้างมากบริเวณลำคอ จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายได้ง่ายและส่วนใหญ่เด็กมักติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดโดยเฉพาะคนในครอบครัว มักมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย คัดจมูก บางรายมีผื่นแดง เบื่ออาหาร ในเด็กทารกดื่มนมได้น้อยลงร่วมกับอาการท้องเสียในทางการแพทย์มีหลักการการดูแลเด็กเล็กที่รักษาตัวอยู่บ้าน แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1. กลุ่มเด็กเล็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการเล็กน้อย มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย หากเป็นเด็กเล็กแพทย์จะให้ยาประเภทไซรัป ส่วนเด็กที่มีน้ำหนัก 35 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถทานยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด แต่หากน้ำหนักน้อยกว่า 35 กิโลกรัม จะให้ทานยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม ½ เม็ด โดยส่วนใหญ่รักษาตัวที่บ้านประมาณ 1-3 วัน อาการจะค่อยๆดีขึ้น ไม่แนะนำให้ทานยาต้านเชื้อไวรัสเนื่องจากมีผลข้างเคียง
2. กลุ่มเด็กเล็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มีไข้สูง หายใจแรง ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% อ่อนเพลีย มีอาการซึมลง ควรรีบพบแพทย์และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ศ.พญ.กมลวิช เลาประสพวัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเด็กเล็กที่ต้องระมัดระวังดูแลเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็ง (ต้องทานยากดภูมิ) โรคเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคปอด เป็นต้น เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะป่วยและมีอาการหนัก เช่น ปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว เป็นต้น เน้นย้ำผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการบุตรหลาน หากพบว่ามีไข้ ควรกินยาลดไข้ และเช็ดตัวได้บ่อยตามต้องการเพื่อลดไข้ หากมีถ่ายเหลว สามารถดื่มน้ำเกลือแร่ได้ เน้นการเว้นระยะห่าง แยกนอนกับพ่อแม่ แยกของใช้ และกักตัวอยู่ที่บ้าน 10 วัน ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข