Loading...
Uncategorized

นศ. การจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ. จบปริญญาเอกในเวลา 2 ปี ด้วยการผลิตผลงานนวัตกรรม

นางลัดดาวัลย์ เทพอ่อน นักศึกษาคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม สาขาวิชาการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้คาดว่าจะจบการศึกษาวุฒิปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ในเดือนมีนาคม 2565 ด้วยการผลิตชิ้นงานนวัตกรรม สามารถจบการศึกษาได้ใน 4 ภาคการศึกษา ใช้เวลา 2 ปี

โดย ดร.อิสระ ชนะแก้วสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมยั่งยืน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา รศ. ดร.เกื้ออนันต์ เตชะโต คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ได้แนะนำให้วางแผนการเรียนและการจบการศึกษา ตามที่ ศ. ดร.ดำรงศักดิ์ ฟ้ารุ่งสาง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอแนวทางใหม่ในการได้รับวุฒิปริญญาโท-เอก ด้วยการผลิตผลงานนวัตกรรม และได้รับความเห็นชอบจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 
 
ตามประกาศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ที่มีผลผลิตเป็นงานนวัตกรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือเชิงเศรษฐกิจ สามารถใช้ผลงานดังกล่าวเพื่อขอสำเร็จการศึกษา ทดแทนการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ได้ 1 ชิ้น

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นางลัดดาวัลย์ เทพอ่อน นักศึกษาปริญญาเอก คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ตนเองได้จัดทำผลงานนวัตกรรม ทดแทนการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสำหรับการศึกษาปริญญาเอก ด้วยนวัตกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงชีวมวล สำหรับการผลิตถุงมือยางในประเทศไทย จากความรู้และประสบการณ์ในการทำงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 5 โรงงาน ในระยะเวลา 10 ปี พบว่า นอกจากการรักษาคุณภาพถุงมือแล้ว การลดต้นทุนในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนด้านเชื้อเพลิง เป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันกับคู่แข่ง ที่จะตอบโจทย์ในการลดต้นทุนได้ ทั้งนี้ พบว่า ต้นทุนในการผลิตถุงมือยาง เป็นวัตถุดิบ 59% ค่าจ้าง 21% ต้นทุนพลังงาน 20%  

โดยได้ทำการปรับปรุงบอยเลอร์ (หม้อไอน้ำ) และปรับสูตรเชื้อเพลิงที่มาจากยางพาราและปาล์มเป็นหลัก 5 สูตร โดยปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล และได้นำเชื้อเพลิงแต่ละประเภทมาทดสอบและเปรียบเทียบพลังงานความร้อน ที่สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า สูตรที่สามารถลดต้นทุนได้ดีที่สุด คือ ไม้สับ (จากต้นยางพารา) 85% กะลาปาล์ม 10% เส้นใยของเมล็ดปาล์ม (หลังจากสกัดน้ำมันปาล์มออกแล้ว) 5%
จากนั้น เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ได้เริ่มใช้งานจริงจนถึงปัจจุบัน ที่ บริษัทเมดิคัด โกลฟ จำกัด อ.ลำทับ จ.กระบี่ ซึ่งผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ หลังจากอบรมให้พนักงาน เข้าใจถึงวิธีการ โดยใช้บอยเลอร์ชนิดไอน้ำ ขนาด 30 ตัน สามารถลดต้นทุนได้ 1.07 ล้านบาท/ปี สามารถรับชมรายละเอียดการศึกษาวิจัย ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1c0W6Up_NQS16C0J1ti6jk-uBIsQOx9q2/view?usp=sharing

หลังจากนี้ก็จะจัดทำวิทยานิพนธ์ และสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ เป็นขั้นตอนสุดท้าย คาดว่าจะจบการศึกษาในเดือนมีนาคม 2565 โดยที่ตนเองได้เข้าเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ช่วยให้ผ่านเกณฑ์ด้านภาษา และได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาอีกด้วย  
นอกจากได้รับความรู้แล้วยังได้ตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ทำให้ภายในโรงงานที่ดูแลไม่มีวัสดุเหลือทิ้ง แม้แต่ผงขี้เถ้าจากเชื้อเพลิง ก็นำไปผลิตอิฐ หรือ ปลูกต้นไม้ รวมทั้งได้ความสัมพันธ์กับเพื่อนที่มาเรียน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในการประสานงานในอนาคต 

ดร.อิสระ ชนะแก้วสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมยั่งยืน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมยั่งยืน เป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในมิติพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ได้บริการวิชาการ จำนวน 10 โครงการ รวมงบประมาณ 12 ล้านบาท มีผลงานนวัตกรรมที่กำลังเข้าสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 6 ผลงาน และดำเนินความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานรัฐและเอกชนทั้งในประเทศจำนวน 22 หน่วยงาน รวมทั้งมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ 3 มหาวิทยาลัย มีการศึกษาเชื่อมโยง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยศึกษาวิจัย เริ่มต้นจากโจทย์ เพื่อแก้ไขปัญหา และเรายังพัฒนาบุคลากรระดับบัณฑิตศึกษาของภาคอุตสาหกรรมไทย ป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรม และสร้างแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศอย่างยั่งยืนและครบวงจร

รศ. ดร.เกื้ออนันต์ เตชะโต คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การใช้ผลงานนวัตกรรมเป็นวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษาปริญญาเอก นอกจากผลงานใช้ประโยชน์ได้จริงแล้ว ยังช่วยให้จบการศึกษาได้เร็ว เพราะผลงานตีพิมพ์จำเป็นต้องรอการพิจารณา แม้ว่าผลงานจะใช้ได้จริงก็ตาม นอกจากนี้วิทยานิพนธ์ที่เป็นผลงานนัวตกรรมจะสนองตอบการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม

Share :