Loading...
Uncategorized

คณะพยาบาล ม.อ. พัฒนาแอปฯ iMedCare ระบบดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน คว้ารางวัล Decentralized Award

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนสงขลา พัฒนาแอปพลิเคชัน “iMedCare” ระบบดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้าน และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วย ได้รับรางวัล Decentralized Award จากกิจกรรม Digital NCDs Pitching ในงาน Health Tech Thailand 2021

ผศ. ดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย นักวิจัยสมาชิกทีมพัฒนาแอปพลิเคชัน iMedCare เปิดเผยว่า แอปพลิเคชัน iMedCare ได้รับรางวัล Decentralized Award จากกิจกรรม Digital NCDs Pitching ในงาน Health Tech Thailand 2021 จัดโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์กรพันธมิตร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เมื่อวันที่ 8 – 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

แอปพลิเคชัน iMedCare เป็นระบบการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้าน โดยมี Home care giver ให้สามารถบริการผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งดำเนินการร่วมกับมูลนิธิชุมชนสงขลา ภายใต้การสนับสนุนของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีจุดเด่นในการลดช่องว่างการให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ตอบสนองผู้รับบริการที่ต้องการการดูแลที่บ้านและเข้าไม่ถึงระบบบริการที่สาธารณสุขจัดให้ ผู้ให้บริการที่ผ่านการอบรมเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ ตลอดจนเป็นการลดความเหลื่อมล้ำกลุ่มคนว่างงาน และผู้ป่วยติดเตียงที่ยังไม่ได้รับการดูแล

โดยในแอปพลิเคชัน iMedCare จะมีโปรไฟล์ผู้ให้บริการ ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดอบรมตามมาตรฐานของกรมอนามัย ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฎิบัติ และภาคสนาม จำนวน 120 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ปัจจุบันอบรมแล้วจำนวน 3 รุ่น และได้ใบรับรองความสามารถที่สามารถนำไปสมัครเป็นผู้ดูแลกลุ่มเป้าหมายในระบบการดูแลระยะยาว และนักบริบาลท้องถิ่นได้ด้วย

iMedCare ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งของประเทศไทยที่ยังไม่มีใครพัฒนา ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยทางการแพทย์สู่การใช้ประโยชน์ ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) โดยทางเจ้าพระยามหานครจะนำแอปพลิเคชัน iMedCare ไปใช้งาน และทางคณะพยาบาลศาสตร์จะทำหน้าที่ในการพัฒนาผู้ดูแลในระบบ

นอกจากนี้ ยังมีแผนดำเนินการในรูปแบบธุรกิจทั่วไป ซึ่งผู้ดูแลที่ผ่านการอบรมและมีโปรไฟล์ในระบบอยู่แล้ว หากมีผู้ประสงค์ที่จะใช้บริการเพื่อการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้าน สามารถเรียกใช้บริการได้ รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตลอดจนขับเคลื่อนกลุ่มผู้ดูแลแต่ละพื้นที่ ทั้งระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะดำเนินการในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 โดยจะส่งเสริมให้เป็นธุรกิจที่พึ่งตนเองได้ ทั้งด้านการจัดสรรบุคลากร และให้บริการผู้ป่วยที่ต้องการรับการดูแล ผ่านแอปพลิเคชัน iMedCare 

“ขณะนี้มีโปรไฟล์ผู้ดูแลในระบบแล้วประมาณ 100 ราย ซึ่งแอปพลิเคชันยังอยู่ในขั้นพัฒนา คาดว่าจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2565 นี้ โดยนำร่องในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจะดำเนินการขับเคลื่อนขยายการใช้งานทั่วประเทศต่อไป” ผศ. ดร.แสงอรุณ กล่าว
Share :