Loading...
Uncategorized

สงขลานครินทร์ เปิดประชุมวิชาการนานาชาติ สร้างความร่วมมือเครือข่าย IMT-GT UNINET

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 2nd SEA-STEM 2021 ในรูปแบบการประชุมเสมือนจริง หรือ virtual conference โดยผ่านระบบออนไลน์ ในระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2564 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ถ่ายทอดสดผ่านเพจ @EILAPSU

รศ. ดร.วันดี สุทธรังษี ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ The 2nd SEA-STEM 2021 กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมว่า เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมและความก้าวหน้าของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือข่าย IMT–GT UNINET โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาจากหลายสถาบันในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมการประชุมจำนวน 500 คน ทั้งจากประเทศสมาชิกเครือข่าย IMT-GT UNINET และประเทศอื่นๆ โดยในการประชุมมีทั้งการบรรยายพิเศษและการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยวาจา จำนวน 41 ผลงานที่ครอบคลุม 7 หัวข้อหลักที่กำหนดไว้ เช่น เทคโนโลยีการสอนและการเรียนรู้ STEM การสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาหลักสูตรและการสอน การพัฒนาทักษะสำหรับการรู้เท่าทัน STEM และหัวข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ STEM ศึกษา เป็นต้น
 
นอกจากนั้น ยังมีการบรรยายโดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ 6 ท่าน จาก 5 ประเทศ ได้แก่ นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและประธานโรงเรียนไม้ไผ่มีชัยพัฒนา Dr. Hizir Sofyan Universitas Syiah Kuala ประเทศอินโดนีเซีย Professor Dr. Valentina Dagiene, Vilnius University ประเทศลิทัวเนีย Professor Dr. Dato’ Noraini Idris, National STEM Movement ประเทศมาเลเซีย Mr. Miroslav Kostecki University of Bamenda และ Technology Transfer CTO STEMSEL Foundation Inc, ประเทศออสเตรเลีย และ ศาสตราจารย์ ดร. ศาสตราจารย์ ดร. จินตวีร์ คล้ายสังข์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวเปิดงาน SEA-STEM 2021 Virtual International Conference ครั้งที่ 2 ว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ผ่านการบรรยายและการนำเสนอผลงานวิจัย 
 
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม เหล่านี้มีส่วนที่ช่วยกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยได้เร่งพัฒนาตนเองในการทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต การวิจัยและนวัตกรรม ท่ามกลางความคาดหวังของสังคมว่าเราจะเป็นผู้ชี้นำแนวทางการจัดการกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำประเทศผ่านวิกฤตและความท้าทายเหล่านี้
    
ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะทางเทคโนโลยี ล้วนเกิดจากการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ เช่น ความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเพื่อให้ทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเหล่านี้ มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับการจัดการเรียนรู้ และพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด ด้วยเหตุนี้ การประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้จึงเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของ STEM Education เพื่อรับกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีการแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ของทั้งวิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมในแบบเสมือนจริง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวของมหาวิทยาลัย ให้สามารถเรียนรู้ร่วมกันและเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกของเครือข่าย IMT-GT UNINET ในการศึกษา STEM ในอนาคต
Share :