ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ให้เกียรติปาฐกถาผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ Advancing Partnerships for the Sustainable Development of the ASEAN Economy ให้แก่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสัปดาห์อาเซียน ครั้งที่ 8 จัดโดย ศูนย์อาเซียนศึกษา ดร.ถนัด คอมันตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 โดยถ่ายทอดให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถรับชมได้ทางเพจ PSUConnext
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้กล่าวถึง พันเอกพิเศษ ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านแรก และ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการก่อตั้ง “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรืออาเซียน ว่า พันเอกพิเศษ ดร.ถนัด คอมันตร์ ได้รับการยกย่องจากเวทีโลกในฐานะผู้วางรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยแม้บทบาทความสำเร็จของท่านจะเป็นเรื่องในอดีต แต่ก็เป็นบทเรียนที่ดีเมื่อเราต้องจัดการกับปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งก็มาจากแหล่งที่มาที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือปัญหาความขัดแย้งและการแสวงหาอำนาจที่เกิด และการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค การโน้มน้าวให้ทั้งภูมิภาคยืนหยัดร่วมมือกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนความรู้ สังคม วัฒนธรรม โดยการก่อตั้งประชาคมอาเซียนคือหนึ่งในการแก้ปัญหานั้น
ปัจจุบันสังคมโลกมีหลายเรื่องที่ต้องใช้วิธีการจัดการที่ต่างจากเดิม เช่นการใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่งคั่ง พัฒนาบริการสาธารณะ การดูแลสุขภาพ และเพิ่มโอกาส ทางการศึกษา เพราะเราไม่สามารถใช้วิธีการแบบเก่าที่เน้นพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติได้อีกต่อไป เพราะการเร่งใช้ทรัพยากรที่ดึงมาจากพื้นดิน อากาศ และน้ำอย่างไม่ระมัดระวัง จะส่งผลเสียอย่างมากกับสภาวะแวดล้อมของโลก เราไม่สามารถพึ่งพาการพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นจากการผลิตโดยการจำกัดค่าจ้างแรงงานเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และต้องยอมให้ค่าจ้างขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน เสริมด้วยการศึกษา เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มากขึ้น และที่สำคัญคือเราไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งในปัจจุบันระหว่างมหาอำนาจในรูปแบบเดิมๆ แต่ต้องช่วยกันหารูปแบบการทูตแบบใหม่โดยใช้บทบาทที่เราเชี่ยวชาญในการหาวิธีแก้ปัญหาการประนีประนอม
สำหรับแนวทางเพื่อส่งเสริมให้ประชาคมอาเซียนมีความก้าวหน้ายั่งยืนนั้น ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ กล่าวว่าจะต้องเริ่มจาก “การพัฒนาจากภายใน” โดยเราต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกิดจากแนวคิดในกลุ่มประเทศนี้ ต้องกำหนดชะตากรรมของตนเอง ไม่ควรถูกบังคับจากภายนอก ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง การหล่อเลี้ยงชุมชนที่เข้มแข็ง มีการจัดการกับความล้มเหลวของตลาดรวมถึงการมีกฎหมายที่ดีเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รักษากฎหมายและความถูกต้องอย่างเคร่งครัดไม่ให้มีอิทธิพลจากแหล่งอื่นมาครอบงำ ภาครัฐจะต้องมีความมั่นคงและความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาประเทศ โดยรักษาระเบียบวินัยที่เข้มงวดของรัฐและมีกลไกในการรับมือกับภัยคุกคามจากภายนอก รัฐบาลควรมีธรรมาภิบาลและมุ่งสร้างเศรษฐกิจแห่งความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกดิจิทัล ที่จะต้องนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม บางวิถีของอาเซียนอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือโดยการแบ่งปันอำนาจอธิปไตย ต้องกล้าแสดงออกมากขึ้น มีจุดยืนที่เข้มแข็ง กำหนดเงื่อนไขต่อประเทศที่ต้องการสร้างอิทธิพลของตนเอง ต้องประสานความมั่นคงของสามเสาหลัก คือด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม และจำเป็นต้องมีการประสานงานที่ดีขึ้นระหว่างอาเซียนและองค์การระดับโลกเช่นสหประชาชาติ และสุดท้ายตือ การรวมคำว่า “ความเป็นหนึ่งเดียว” และ “ความยั่งยืน” ในกรอบอาเซียนเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ต้องตามด้วยการนำแนวคิดเหล่านั้นไปปฏิบัติอย่างจริงจังและนำไปใช้ได้จริงจึงจะประสบความสำเร็จ