กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีทำความสะอาดศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) และศูนย์พักคอย ตั้งแต่บริเวณพื้น ทางเดิน โต๊ะ เก้าอี้ เตียง ห้องส้วม ก่อนคืนพื้นที่ใช้งานได้ตามปกติ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของคนในชุมชน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อชะลอลง ทำให้ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) บางพื้นที่เริ่มปิดลง เนื่องจากโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลในเขต อำเภอ หรือจังหวัด มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพียงพอ รวมถึงหน่วยบริการสาธารณสุขสามารถจัดบริการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้เพียงพอเช่นกัน โดยก่อนที่จะคืนพื้นที่นั้นต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ทั้งอุปกรณ์และสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่บริเวณพื้นทางเดิน โดยทำความสะอาดด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด และฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ และเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสร่วม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ที่จับประตูด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือน้ำยาที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของเตียงกระดาษ หลังจากทิ้งไว้ ประมาณ 3 – 7 วัน ให้เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือน้ำยาที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นทิ้งไว้อีก 1 – 2 วัน แล้วถอดแยกชิ้นส่วน เก็บรวบรวม และเคลื่อนย้ายไปจุดพักรวม รวมทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อเก็บขนและนำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป หรือรีไซเคิล สำหรับเตียงไม้ เตียงเหล็ก รวมทั้งไม้ถูพื้น พัดลม โคมไฟ ให้เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน แล้วค่อยนำกลับไปใช้ตามปกติ
“สำหรับผ้าปูเตียง ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเปื้อนของผู้ป่วย ให้ปฏิบัติตามแนวทางการจัดการผ้าเปื้อนติดเชื้อ ด้วยการซักที่น้ำอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 71 องศาเซลเซียส นาน 25 นาที แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ส่วนรองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง แว่นตาป้องกันตา ผ้ายางกันเปื้อน เป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ให้แช่น้ำยาที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ นาน 30 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด รวมทั้งบริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม ให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยาที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ นานอย่างน้อย 10 นาที และทำความสะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาด ล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง ส่วนถังขยะหรือสถานที่รวบรวมขยะมูลฝอยและมูลฝอยติดเชื้อทั้งหมดของผู้ป่วยให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด และนำไปตากแดดให้แห้ง และน้ำทิ้งจากศูนย์พักคอยต้องเติมคลอรีนให้มีคลอรีนอิสระคงเหลือไม่น้อยกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4 วัน ทั้งนี้ เมื่อทำความสะอาดศูนย์แยกกักตัวในชุมชน และศูนย์พักคอยเรียบร้อยแล้วอย่างน้อย 4 วันจึงสามารถเปิดพื้นที่ใช้งานได้ตามปกติ นอกจากนี้ คนในชุมชนยังคงต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมให้คนในชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุม” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว