ดร.สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ในโครงการ “FameLab Thailand 2021” และรางวัล People’s Choice Award พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมแข่งขัน FameLab International ออนไลน์ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้
ดร.สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ในโครงการ “FameLab Thailand 2021” จัดขึ้นโดย บริติช เคานซิล ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย อพวช. สวทช. สอวช. และกลุ่มทรู สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ หน่วยงานพาร์ทเนอร์ เพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารให้แก่นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยไทย โดยมีรอบชิงชนะเลิศไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยผู้ชนะจะได้รับทุนเพื่อพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ แพ็คเกจพัฒนาความเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และถ้วยรางวัล มูลค่ารวม 100,000 บาท
นอกจากนี้ ดร.สิรวิชญ์ ยังคว้ารางวัล People’s Choice Award มาครองอีกหนึ่งรางวัล โดยได้รับอุปกรณ์ DJI หรือเทียบเท่ามูลค่า 5,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมในการแข่งขัน FameLab International ที่จะถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ต่อไป
สำหรับการแข่งขันในปีนี้ถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ โดยให้ผู้เข้าแข่งขันต้องเล่างานวิจัยหรือเรื่องราววิทยาศาสตร์ในความยาวไม่เกินคนละ 3 นาที และมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศ 10 คนสุดท้าย ซึ่งได้ผ่านการอบรมในรอบ Master Class เพื่อเรียนรู้ทักษะการนำเสนอวิทยาศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร และสำหรับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในโครงการ “FameLab Thailand 2021” ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน คือ คุณเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย, ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และ ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มาร่วมตัดสินในการแข่งขันฯ
โดยในรอบชิงชนะเลิศ ดร.สิรวิชญ์ ได้นำเสนอเรื่องราวในหัวข้อ “The power of prediction amid the pandemic (พลังของการคาดการณ์ท่ามกลางโรคระบาด)” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าที่มีการกลายพันธุ์เรื่อยๆ การศึกษาองค์ประกอบไวรัส เช่น โครงสร้างโปรตีนจึงมีส่วนสำคัญในการอธิบายกลไกการติดเชื้อและเป็นแนวทางพัฒนาการป้องกันและรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อให้เข้าใจโครงสร้างโปรตีนโดยละเอียด นักวิทยาศาสตร์นิยมใช้เทคนิค X-ray crystallography ซึ่งต้องเปลี่ยนโปรตีนที่ต้องการศึกษาให้เป็นผลึกคริสตัล แล้วยิงรังสี X ไปที่ผลึก เกิดการกระจายของรังสีบนแผ่นรับ (detector plate) ซึ่งรูปแบบการกระจายของรังสี X จะถูกวิเคราะห์โดยคอมพิวเตอร์และแปลงเป็นโมเดล 3 มิติของโปรตีน ซึ่งมีข้อเสียที่ความยุ่งยาก โอกาสสำเร็จต่ำ และใช้เวลานาน ขัดกับไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เรื่อยๆ ทำให้เราไม่สามารถศึกษาโครงสร้างไวรัสทุกๆ ตัวได้ จึงได้มีการนำคอมพิวเตอร์จำลองขึ้นมาใช้ โดยเปลี่ยนกรดอะมิโนที่เป็นองค์ประกอบเฉพาะบริเวณที่กลายพันธุ์ เหมือนเวลาเราเปลี่ยนตัวต่อเลโก้ ก็จะช่วยให้เราได้โมเดลจำลองโปรตีนกลายพันธุ์พร้อมใช้ทันที ซึ่งถึงแม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และก้าวแรกของงานวิจัยใหม่ๆ แต่ก็เป็นความหวังในการหยุดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในอนาคต
รับชมการแข่งขันย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/BritishCouncilThailand/videos/195805235981932/