กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ห้ามสูบบุหรี่หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ทุกรูปแบบ ขณะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสนาม และศูนย์แยกกักในชุมชนทุกแห่ง พร้อมขอเชิญชวนให้ผู้สูบบุหรี่ใช้โอกาสนี้ เลิกสูบอย่างถาวร สามารถเข้ารับบริการที่สายด่วนเลิกบุหรี่แห่งชาติโทร. 1600 ฟรี เผยการสูบบุหรี่มวนเดียวกัน เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 มากถึง 3.47 เท่า ระบุผลดีการเลิกสูบบุหรี่ช่วยลดความรุนแรงจากอาการติดเชื้อโควิด 19
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ป้องกันการเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ และลดจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ให้ได้มากที่สุด ทั้งการฉีดวัคซีนป้องกัน และมาตรการป้องกันส่วนบุคคล คือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง งดการร่วมกิจกรรมกลุ่มทุกประเภทแล้ว แต่จุดที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือ พฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยการสูบบุหรี่มวนเดียวกัน เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 มากถึง 3.47 เท่า
นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวว่า การเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิด จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้น และควรใช้ สถานการณ์ความรุนแรงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เลิกสูบ ทั้งนี้สามารถขอรับบริการช่วยเหลือได้ 2 ช่องทาง คือ 1.สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน และ 2.ขอรับคำปรึกษาที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ โทร.ฟรี 1600
ด้านนายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวเสริมว่า ขอความร่วมมือไปยังผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ยังสูบบุหรี่ ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในบริเวณโรงพยาบาลสนาม (Hospitel), ศูนย์แยกกักในชุมชน (CI) ที่เป็นสถานที่ราชการหรือสถานที่เอกชน หรือสถานศึกษาหรือสนามกีฬา รวมถึงสถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ทั้งหมด หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในการปฏิบัติตามกฎหมายได้ที่ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร. 02 590 3852