Loading...
Uncategorized

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับภาคเอกชน แปรรูปผักสู่ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ บริษัท Bioaxel นำการวิจัยจากห้องปฎิบัติการสู่การแปรรูปผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งได้มีโอกาสนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ครั้งที่ 2/2564 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาผักตบชวาที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล การวิจัยในครั้งนี้ ได้นำผักตบชวาซึ่งเป็นวัชพืชที่เป็นปัญหาสำคัญต่อแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆ กว่า 302,854.27 ตันต่อเดือน

นักวิจัย ประกอบด้วย ผศ. ดร.จุฑารัตน์ เอี้ยวกฤตยากร และ รศ. ดร.วิไลวรรณ โชติเกียรติ พร้อมด้วยคุณศิวพงศ์ เลื่อนราม ผู้บริหารของบริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด ร่วมทำโครงการความร่วมมือในการแปรรูปผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ภายใน 24 ชั่วโมง โดยนำผักตบชวาที่ได้ผ่านกระบวนการย่อยด้วยเครื่อง Bioaxel และนำจุลินทรีย์ Super BACT มาผสม จนได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมนำไปลงแปลงนา ณ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ในพื้นที่ 5 ไร่ ผลปรากฏว่า ผลผลิตข้าวดีขึ้น และได้ผลมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญปุ๋ยดังกล่าวมีต้นทุนที่ถูก

ผศ. ดร.จุฑารัตน์ เอี้ยวกฤตยากร กล่าวว่า ปกติแล้วผักตบชวา ถ้าไม่ได้ใช้ จุลินทรีย์ Super BACT ในการย่อยจะใช้เวลา 1-2 เดือน ที่สำคัญเมื่อใช้จุลินทรีย์ดังกล่าวไปวิเคราะห์คุณภาพที่กรมวิชาการเกษตร พบว่า ค่าผ่านมาตรฐานทุกตัว ซึ่งจากการนำปุ๋ยมาให้เกษตรกรได้ทดลองที่แปลงนา อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ปรากฏว่า ต้นข้าวแตกกอเยอะ ต้นใหญ่ รวงยาว ได้ผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิม  

คุณปนะธีร์ ฬารวิจิตรวงศ์ เกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ช่วงแรกๆ ที่ได้รับการติดต่อจากทีมวิจัย ค่อนข้างกังวลว่าจะได้ผลผลิตดีขึ้นจริงหรือไม่ พอได้ใช้ไปจึงเห็นการเจริญเติบโต และการเปลี่ยนแปลง ดีใจ และคิดว่าจะให้คำแนะนำไปยังเกษตรกรคนอื่นๆ ให้ใช้งานกันมากยิ่งขึ้น 
สำหรับท่านใดที่สนใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถประสานงานมายัง งานบริการวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อประสานงานไปยังนักวิจัยได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0 7428 8028 ในวันและเวลาราชการ 
Share :