Loading...
Uncategorized

กองบริหารทรัพยากรบุคคล และศูนย์บรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนภารกิจ รพ.สนาม ม.อ.

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ ดำเนินการโรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เปิดรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฎิบัติงานดูแลผู้ป่วย 24 ชั่วโมง ทีมงานกองบริหารทรัพยากรบุคคล และศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมปฎิบัติงานสนับสนุน ด้านการจัดอาหาร ยา เสื้อผ้า สิ่งของจำเป็น แก่ผู้ป่วยโควิด-19 จัดเก็บขยะติดเชื้อ พร้อมผลัดเวรดูแลผู้ป่วย 24 ชั่วโมง อย่างเข้มแข็งเพื่อสนับสนุน แพทย์ พยาบาล ทุกวันไม่เว้นวันหยุด ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าที่คาดไว้ ทุกคนเต็มใจเสียสละ เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน

กองบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการดูแลของ นายแพทย์บุญประสิทธิ์ กฤตย์ประชารองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาคุณภาพ รศ. ดร.วรายุ บุญปกครอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายระบบทรัพยากรบุคคล และ ผศ. พญ.ธารทิพย์ แสงสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมสุขภาพบุคลากร

โดย นางเมตตา ชุมอินทร์ หัวหน้างานพัฒนาทรัพยากรบุคคล และทีมงานประกอบด้วย นายวราวุฒิ โประเทพ นางสาวมันตรินี หนูฤทธิ์ นางสาววีรมลล์ แก้วน้อย และงานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ประกอบด้วย นางสุนันทา แก้วเจริญ หัวหน้างานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ และทีมงาน ประกอบด้วย นางภารดี แท่นทอง นางอทิตยา ทองจืด นางสาวอภิสรา อินทแก้ว นางอชิดา นิลรัตน์ รวมทั้งบุคลากรจิตอาสา จากสำนักงานอธิการบดี ประกอบด้วย นางสาวสุชาดา เลิศวณิชย์วัฒนา นางสาวสุธาสินี จันทร์คง นางสาววรรทณี โนภาส ร่วมภารกิจสนับสนุน โรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ระหว่าง เวลา 8.30 -19.30 น.

กองบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แบ่งเบาภาระของทางคณะแพทยศาสตร์ โดยจัดให้มีจุดรับบริจาค ที่หน้าสำนักงานอธิการบดี รับผิดชอบโดย งานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ กองบริหารทรัพยากรบุคคล ร่วมกับศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำหน้าที่

1. รวบรวมสิ่งของจากผู้มีจิตศรัทธามอบให้ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์

2. ทำหนังสือขอบคุณแก่ผู้บริจาค

3. จัดอาหาร แก่ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่

4. จัดหาสิ่งของที่จำเป็น สิ่งที่ผู้ป่วยร้องขอ

5. ดำเนินการเรื่องงบประมาณในซื้อสิ่งของที่โรงพยาบาลสนามจำเป็นต้องใช้

6. รวบรวมและสรุปจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวัน แจ้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นางเมตตา ชุมอินทร์ หัวหน้างานพัฒนาทรัพยากรบุคคล กองบริหารทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า ได้พยายามจัดสิ่งของที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค ให้หยิบง่าย ใช้สะดวกสำหรับทุกคน คนไข้รักษาอยู่ 14 วัน จัดเสื้อผ้าให้คนละ 4 ชุด ปัจจุบันอยู่ 10 วัน จัดให้คนละ 3 ชุด สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมมา เพราะเมื่อทราบผลการตรวจ ต้องรีบเข้าทำการรักษา และจัดสิ่งของอื่นๆ ได้แก่ ผ้าเช็ดตัว หมวกคุลมผมอาบน้ำ สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ไม้กวาด โดยโรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ม.อ. จัดระบบให้คนไข้ที่สุขภาพแข็งแรงร่วมกันจัดเวรทำความสะอาดห้องน้ำ รวมทั้งจัดหาสิ่งของที่ผู้ป่วยร้องขอ เช่น ผ้าอนามัย นมผงเด็ก (กรณีบุตรติดโควิด-19 และมารักษาตัวด้วย) ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีภารกิจจัดอาหารให้กับคนไข้ที่ฝ่ายโภชนาการจัดทำมาให้ กว่า 200 คน ดูแลผู้ป่วยที่รับประทานอาหารไทยพุทธ ไทยมุสลิม และจัดอาหารสำหรับผู้ที่แพ้อาหารประเภทต่างๆ เช่นแพ้ไก่ อาหารทะเล เป็นต้น

ศูนย์บริการฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัย กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เสียสละปฎิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทีมอยู่เวร ช่วงกลางวัน 08.30-19.30 น. และช่วงกลางคืน ระหว่างเวลา 19.30 จนถึงเวลา 08.30 น. ของวันถัดไป ทีมงานหมุนเวียนสลับกันทำทีมละ 14 วัน ทั้งนี้ เพื่อหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นก็มีเจ้าหน้าที่สามารถปฎิบัติงานได้ โดยได้ปฎิบัติภารกิจตั้งแต่เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้การดูแลของ ผศ. ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ และนายนิติธร ชำนาญเมือง ผู้อำนวยการกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม และนายชัยยศ ชิตวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายองอาจ บุญล้วน หัวหน้าศูนย์บริการฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัย และทีมงาน ประกอบด้วย ว่าที่ร้อยเอกอนุวัฒน์ แก้วปนทอง นายธีรภพ เดชดำรงษ์ นายกรชวัล พันชู นายนิตินัย เพ็ชรศรี ว่าที่ร้อยตรีธาดา สังขาชาติ นายวันชนะ บุตรคง นายเริงศักดิ์ สุขสัน นายเอกสิทธิ์ ทองด้วง นายธีรพงษ์ หงษ์มณี นายอภิชน ศรีนวลขาว นายรุ่งสิงหา เหมโก และ นายอดิสรณ์ ศรีอรุณ

นายองอาจ บุญล้วน หัวหน้าศูนย์บริการฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัย และทีมงานเปิดเผยถึงภารกิจว่า ประกอบด้วยการเบิกจ่ายสิ่งของที่ทีมกองบริหารทรัพยากรบุคคล จัดไว้ เมื่อแพทย์ พยาบาล ต้องการใช้ ในช่วงกลางคืน นำอาหารเข้าไปส่งให้ผู้ป่วยในโซนสีแดง วันละ 3 เวลา มื้อเช้า 07.30 น. มื้อเที่ยงเวลา 11.45 น. มื้อเย็นเวลา 17.45 น. รวมทั้ง รับ – ส่งผู้ป่วยที่เข้ามาใหม่ และกลับบ้าน พร้อมทั้งตรวจสัมภาระ ผู้ป่วยที่เข้ามาใหม่ ป้องกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามา โดยห้ามนำอาวุธ และของเหลวทุกชนิดเข้าโรงพยาบาลสนาม เมื่อพนักงานศูนย์บริการฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับแจ้งจากพยาบาลทางวิทยุสื่อสารว่า จะมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา ทีมเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เข้าปฏิบัติงาน ต้องสวมชุด PPE เข้าไปในโซนแดงทุกครั้ง เพื่อตรวจสัมภาระที่ผู้ป่วยใหม่ เมื่อผู้ป่วยจะกลับก็ต้องตรวจอีกครั้ง โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะจัดถุงยังชีพให้คนไข้นำกลับบ้านไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการเก็บขยะติดเชื้อเพื่อนำไปเผาทำลาย รอบที่ 1 เวลา 07.45 น. รอบที่ 2 เวลา 11.45 น. รอบที่ 3 เวลา 17.45 น. โดยต้องสวมใส่ชุด PPE ทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องศึกษาวิธีสวมและถอดชุด PPE ไม่ให้สัมผัสด้านนอกของชุด PPE และก่อนกลับต้องอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
 
อีกทั้ง ทำหน้าที่รับยาให้ผู้ป่วย ซึ่งเสมือนเป็นคนไข้ใน ที่ห้องยา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในเวลา 11.00 น. และ 15.00 น. ทุกวัน กรณีผู้ป่วยมีอาการป่วยหนัก ก็จะมีหน้าที่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 

รวมทั้ง ดูแลรักษาความปลอดภัยในโรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมนานาชาติ หากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น การทะเลาะวิวาท ส่วนด้านนอกโรงพบาบาลสนาม จะมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยดูแล 

ผศ. ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลสนามฯ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรของมหาวิทยาลัย คือทีมงานกองบริหารทรัพยากรบุคคล ทีมงานกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินการในการจัดสถานที่โรงพยาบาลสนามฯ รวมทั้งสถานที่สำหรับศูนย์ฉีดวัคซีน ม.อ. รวมทั้ง ทีมงานศูนย์บริการฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัย กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ปฎิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันทำหน้าที่เป็นด่านหน้าอย่างเข้มแข็งทุกท่านเสียสละมาก
 
และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอขอบคุณการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่งดเว้นค่าไฟฟ้าสำหรับโรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และดำเนินการจัดทำระบบไฟฟ้าของตู้แช่เย็นวัคซีน เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าดับ บริเวณสถานที่ฉีดวัคซีน ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ด้วย 
Share :