ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรง แม่ตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่หากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงอันตราย โดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เผยข้อมูลว่าหากคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 นั้น จะมีผลทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกน้อย นั่นคือ
- แม่มีโอกาสเข้า ICU สูงถึง 2-3 เท่า
- ใช้เครื่องช่วยหายใจสูง 2.6-2.9 เท่า
- เสียชีวิตได้มากตั้งแต่ 1.5-8 คนใน 1,000 คน
- ลูกคลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า
- ลูกตายคลอด 2.8 เท่า
- ลูกต้องเข้า ICU 4.9 เท่า
- ลูกติดเชื้อได้ 3-5% และติดเชื้อหลังคลอดแบบไม่มีอาการได้
แม่ติดโควิด กอด อุ้มลูกได้ไหม? ถ้ายังมีเชื้อโควิด-19
สำหรับคุณแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ตอนตั้งครรภ์และคลอดลูกน้อยออกมาแล้ว ลูกทารกหลังคลอดจะได้รับการอาบน้ำโดยเร็วที่สุด และแยกลูกเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส หากไม่พบเชื้อในตัวลูก คุณแม่สามารถกอดและอุ้มลูกได้ แต่ต้องสวมหน้ากาก ล้างมือก่อนและหลังจับตัวลูก งดหอมแก้มลูก ไม่ไอหรือจามใส่ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
หากลูกหลังคลอดติดเชื้อ แบบไม่มีอาการหรืออาการน้อย และคุณแม่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย อาจไม่ต้องแยกจากแม่ แต่แม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยและป้องกันเชื้อโรคเคร่งครัด แต่หากลูกติดเชื้อรุนแรง จะต้องแยกไปรักษาที่หอผู้ป่วยเด็กแรกเกิด หรือเพื่อความปลอดภัยบางกรณีลูกแรกคลอดอาจต้องได้รับการแยกกักตัวอย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าแม่จะตรวจไม่พบเชื้อไวรัส เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไปสู่ลูกน้อย
บางกรณีการแยกคุณแม่และลูกจะพิจารณาตามข้อตกลงของแต่ละรพ.หรือเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างคุณแม่และทีมแพทย์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ลูกทารกจะติดเชื้อจากคุณแม่ ส่วนคำถามว่า หากแม่มีเชื้อ ให้ลูกกินนมแม่ได้ไหม? คำตอบคือให้นมแม่ลูกได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ลูกติดเชื้อ ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือก่อนและหลังจับตัวลูกทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการไอ หรือจาม ขณะให้ลูกดูดนม
- เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวหรือวัตถุที่สัมผัสในขณะให้นมทุกชนิด ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
- เพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ แนะนำให้ใช้วิธีปั๊มนมแม่แช่เก็บไว้ก่อน แล้วให้ญาตินำไปให้ลูกกินหรือแช่แข็งน้ำนมเก็บไว้ จนกว่าแม่จะตรวจไม่พบเชื้อไวรัส ต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะปั๊มนม ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสอุปกรณ์ปั๊มนมหรือขวดนมทุกชิ้นเสมอ
WHO แนะนำว่า หากคุณแม่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มากก็สามารถให้นมได้และควรทำ เนื่องจากในน้ำนมมีสารอาหารและภูมิคุ้มกันที่จำเป็น นอกจากนี้การบีบน้ำนมสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมให้ลูกอย่างต่อเนื่องแม้จะหายป่วยแล้ว แต่หากแม่มีอาการติดเชื้อรุนแรงหรือได้รับยาต้านไวรัสที่ส่งผ่านไปทางน้ำนม ไม่ควรให้นมลูก และปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมลูก