Loading...
Uncategorized

สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. “สะพานเชื่อมงานวิจัยและนวัตกรรมยางพาราสู่การใช้ประโยชน์”

สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (NR-IRI PSU) ขับเคลื่อนภารกิจด้านยางพารา เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการพัฒนานวัตกรรมยางพาราสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เน้นการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ และส่งเสริมนักวิจัยคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง 

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ผศ. ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินครินทร์ กล่าวถึง ภารกิจของสถาบันฯ 5 ด้าน คือ
 
  1. การเป็นเลิศด้านวิจัยยางพาราในระดับนานาชาติ ครอบคลุมตั้งแต่พันธุ์ยางพารา การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน การแปรรูปต่างๆ รวมไปถึงการขยายขอบเขตการใช้งานของยางพาราด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม เพื่อผลผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆ เผยแพร่ในวารสารที่นานาชาติยอมรับ
  2. การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ส่งเสริม และสนับสนุนนักวิจัยในการบูรณาการทำงานข้ามศาสตร์ เพื่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญา และองค์ความใหม่ๆ จากการใช้ความเชี่ยวชาญหลากหลาย
  3. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ จัดทำฐานข้อมูล (knowledge bank) ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราอย่างครบวงจร และการบริการให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาต่างๆ ในอุตสาหกรรม รวมถึงยกร่างมาตรฐานสินค้านวัตกรรม
  4. การสร้างเครือข่าย สร้างระบบนิเวศน์วิจัย ระหว่างนักวิจัย ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อผลักดันการนำองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์จริงทั้งในเชิงพาณิชย์ และเพื่อประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐ
  5. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านยางพารา สร้างเวทีและพื้นที่ในการเสริมศักยภาพนักศึกษา สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ รวมถึงการจัดอบรมเสริมศักยภาพในรูปแบบต่างๆ 
ในสถานการณ์การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สร้างผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติด้านยางพารา (เฉพาะปี 2564-ปัจจุบัน จากฐานข้อมูล Scopus) มีจำนวนรวมเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ หากสืบค้นย้อนหลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีผลงานติดอยู่ใน 3 ลำดับแรกของโลกมาอย่างต่อเนื่อง 

สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้พัฒนาทักษะและสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยกิจกรรมค่ายนวัตกรยางพารารุ่นใหม่ โดยทางสถาบันวิจัยฯ ได้นำนักวิจัยด้านยางพาราและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มและเกิดแรงบันดาลใจในทำงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันกิจกรรมนี้ยังเปิดโอกาสให้เกิดการรวมกลุ่มของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความสนใจร่วมกัน นําผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งมีโอกาสพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยสถาบันฯ ได้เชื่อมโยงเครือข่ายนักเทคโนโลยียางพารา กับบุคลากรสาขาอื่นๆ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล วิศวกร ในมหาวิทยาลัย กับสถาบันอื่นๆ และผู้ประกอบการช่วยให้เกิดโครงการใหม่ ได้ไปทำงานร่วมกันจนสามารถจดสิทธิบัตรได้ 

นอกจากนี้ กิจกรรมเด่นอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ 

1) Natural Rubber Innovation and Technology Platform เป็นเวทีของการพบปะระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัย ในการเล่าปัญหา โจทย์วิจัย และสร้างพื้นที่ในการวิจัยร่วมกัน 

2) International Webinar ที่สร้างเวทีให้กับนักวิจัยได้พบกับศาสตราจารย์นักวิจัยในระดับนานาชาติเพื่อให้ได้ update องค์ความรู้ 

3) การประกวดผลิตภัณฑ์/นวัตกรรมยางพารา ที่สร้างพื้นที่ให้นักศึกษา นักวิจัย สถาบันเกษตรกร ได้ปล่อย idea ผ่านการประกวด 4) Natural Rubber Startup Acceleration Program การสร้างกระบวนการเร่งการเกิดนวัตกรรมและส่งเสริมธุรกิจยางพาราให้เป็นธุรกิจมูลค่าสูง เป็นต้น 

สถาบันฯ มีการสื่อสารผ่านหลายช่องทางทั้งในมิติทุนวิจัยหรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง “ขอให้ทุกท่านเป็นกำลังใจให้กับทีมวิจัย (ยางพารา) และรอดูผลจากการวิจัยที่ออกมา สำหรับนักวิจัยแล้วการวิจัยคือเพียงส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญคือพลังใจครับ เราต้องช่วยกันทุ่มเททั้งแรงกายและส่งกำลังใจ เพื่อให้งานวิจัยยางพาราเกิดขึ้นและใช้ประโยชน์จริงให้ได้มากๆ”
 
สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งอยู่ชั้น 9 อาคาร 2 ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (Learning Resource Center Building) ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทรศัพท์ (074) 282-267-69 โทรสาร (074) 282-266 E-mail: psu.nriri@gmail.com
Share :