นักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายงานพบ “ปูไก่จิ๋ว” Epigrapsus politus ครั้งแรกในปรเทศไทย ณ บริเวณแหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต
นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า จากการสำรวจปูไก่ในช่วงปีที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ได้มีโอกาสพบและเก็บตัวอย่างปูไก่ชนิดต่างๆ จากบริเวณแหลมพันวา ที่ตั้งของศูนย์วิจัยฯ รวมจำนวน 4 ชนิด ต่อมาจึงได้ศึกษาพบว่าชนิดปูไก่จิ๋ว Epigrapsus politus เป็นชนิดและสกุลที่ยังไม่ได้มีการรายงานพบในประเทศไทยมาก่อน โดยเป็นชนิดและสกุลที่มีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับปูไก่สกุลอื่นๆ ที่พบทั่วโลก ซึ่งการใช้ชีวิตของมันค่อนข้างลึกลับ จะพบซ่อนตัวในหาดทรายที่มีหินกรวดหรือเศษปะการังทับถมร่วมกับทราย การที่สำรวจพบเพียงตัวเดียวทำให้ยากที่จะสรุปได้ว่าปูชนิดนี้มีแหล่งอาศัยหลักอยู่ในพื้นที่แหลมพันวาหรือแถบชายฝั่งประเทศไทยด้วยหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเป็นความบังเอิญที่ตัวอ่อนถูกพัดพามาจากเกาะห่างไกล เช่น หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ที่มีรายงานการพบปูชนิดนี้อยู่ก่อนแล้ว จำเป็นที่จะต้องรอการค้นพบตัวปูชนิดนี้เพิ่มเติมต่อไปในอนาคตเพื่อไขปริศนานี้
“ปูไก่” คือปูที่อาศัยอยู่บนบกตามเกาะต่างๆ บางครั้งพบอาศัยห่างจากชายฝั่งเข้าไปในแผ่นดิน แม้แต่บนภูเขาไกลหลายกิโลเมตร แต่ยังคงต้องพึ่งพาทะเลในการขยายพันธุ์ปล่อยตัวอ่อน ซึ่งยังต้องผ่านการเป็นแพลงก์ตอนก่อนจะลอกคราบเปลี่ยนแปลงรูปร่างหลายครั้งจนคล้ายปูขนาดเล็ก ยกพลขึ้นฝั่งหาที่หลบซ่อนอาศัยจนโตขึ้นก็จะขุดรูเป็นบ้านของตัวเอง โดยก้นรูมักจะเป็นจุดที่มีระดับน้ำใต้ดินหล่อเลี้ยงทำให้ปูมีแหล่งน้ำสำหรับแลกเปลี่ยนกับน้ำในเหงือก