Loading...
Uncategorized

ทีมงานทุกฝ่ายของสงขลานครินทร์ พร้อมฉีดวัคซีนด้วยจิตบริการ

“ทีมงานทุกคนยินดีและภูมิใจที่ได้มาทำงานนี้ การฉีดวัคซีนถือเป็นอาวุธอีกอย่างหนึ่งในการต่อสู้ กับโควิด-19 ในมุมของการป้องกัน อยากให้ทุกคนมาฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามเป้าหมายของประเทศคือ 70% ของประชากร ทางทีมงานจะให้การบริการที่เป็นไปตามมาตรฐาน และให้บริการจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งคาดว่าจะให้บริการถึงประมาณเดือนธันวาคม 2564 หรือ มกราคม 2565”

นายแพทย์อรุณธร พิเชฐชัยยุทธ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล ทำหน้าที่บริหารจัดการศูนย์ฉีดวัคซีน ณ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า การให้บริการฉีดวัคซีน ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีเจ้าหน้าที่ให้บริการ ประมาณวันละ 150 คน (แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ แม่บ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และอื่นๆ) ในจำนวนนี้ได้รับความร่วมมือจากทางมหาวิทยาลัย และคณะต่างๆ ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนยินดีมาให้บริการด้วยใจ พร้อมให้บริการอย่างเต็มที่ ทางทีมงานได้ให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม รวมทั้งให้บริการกับหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 8 กรกฏาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 27,378 คน แบ่งเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 10,181 คน และวัคซีนซิโนแวค 17,198 คน 

ปัจจุบันได้ให้บริการฉีดวัคซีนวันละประมาณ 700-1,000 คน โดยเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทั้งนี้มีแผนเพิ่มการฉีดเป็นวันละ 1,500 -17,00 คน ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฏาคม 2564 โดยกลุ่มหลักคือประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม และบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ยังมีแผนจะขยายเพิ่มเป็นวันละ 2,000 คน ในเดือนสิงหาคม 2564 

ในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม 2564 จะเป็นการให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ลงทะเบียนและจองวันผ่านระบบหมอพร้อม แต่ในเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป จะเป็นการเรียกตามลำดับคิวที่ลงทะเบียน ซึ่ง ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 มีผู้มาลงทะเบียนกับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพื่อรอคิวแล้ว จำนวน 25,170 คน จะมีบริการ sms ไปยังโทรศัพท์มือถือของท่านเพื่อแจ้งวันและเวลาเข้ารับบริการต่อไป

ทีมงานของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำจุดต่างๆ ตั้งแต่ 1. รับเอกสาร ใบยินยอมฉีดวัคซีน ลงข้อมูลประวัติ 2. ลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน 3. วัดไข้ ความดัน ชีพจร 4. ซักประวัติ บันทึกข้อมูล 5. รอฉีดวัคซีน 6. ฉีดวัคซีน 7. พักสังเกตอาการ 30 นาที 8. รับใบนัดครั้งต่อไป

ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ ผู้มารับบริการมีความดันโลหิตสูง ซึ่งจะให้นั่งพักหรือนอนพักก่อน และวัดความดันซ้ำ หากความดันสูงมากอาจจำเป็นต้องได้รับยาลดความดันโลหิตก่อน จึงจะสามารถรับวัคซีนได้ จากที่ให้บริการมายังไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในขณะสังเกตอาการหลังฉีด 30 นาที ทั้งนี้ จากรายงานพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนหลังจากกลับไปที่บ้านแล้วบ้าง เช่น ไข้ ผื่น อาการชา คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวสามารถโทรเข้ามาปรึกษาได้ หรือหากมีอาการรุนแรงสามารถมาที่ห้องฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

ในส่วนการเก็บรักษาวัคซีนจะเก็บในตู้แช่เย็นสำหรับเก็บยาและวัคซีนเพื่อรักษาคุณภาพของวัคซีนตามมาตรฐานที่กำหนด เกณฑ์การให้บริการวัคซีนที่นี่คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี จะได้รับวัคซีนซิโนแวค

ในด้านสถานที่ฉีดวัคซีน เนื่องจากจัดที่ลานใต้อาคารที่ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่เปิดโล่ง ดังนั้นอาจจะพบปัญหากรณีที่ฝนตกหนักได้
 
ขอแจ้งให้ทราบว่า การให้บริการที่นี่ไม่ได้ให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนมาก่อนทุกกรณี ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับวัคซีนกับทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สามารถลงทะเบียนผ่านทาง Line OA สงขลาวัคซีน หรือติดต่อที่ศูนย์ C Plus ตรงข้ามห้องบัตรของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 
 
สำหรับผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด-19 สามารถมาเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ เมื่อหายจากโรคแล้วประมาณ 3 เดือน
Share :