เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 64 ณ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ บุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ที่ได้รับการจัดสรรจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรฝ่ายสนับสนุน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คอยให้บริการ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีบุคลากรจากคณะและหน่วยงานต่างๆ เข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
โดยในวันนี้ อาจารย์มนัส กันตวิรุฒ ผู้อำนวยการสำนักหอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์อาวุโส ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนคนแรกในกลุ่มบุคลากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธารทิพย์ แสงสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมสุขภาพบุคลากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้า เซนเนก้าจากกระทรวง อว. เพื่อฉีดแก่บุคลากรมหาวิทยาลัยรวม 4 วิทยาเขต (เว้นวิทยาเขตภูเก็ตที่ได้รับก่อนหน้านี้แล้ว) โดยจะฉีดวัคซีนครบคลุมทั้งบุคลากรและผู้ที่ปฎิบัติงานในมหาวิทยาลัยทั้งหมด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอัตราการติดเชื้อ โดยเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 64 นี้ คาดว่าภายใน 7 วันจะฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่ประสงค์ได้ครบ 100%
ในส่วนของนักศึกษาคาดว่าจะได้รับจัดสรรวัคซีนประมาณเดือนสิงหาคมนี้ และจะดำเนินการฉีดวัคซีนแก่นักศึกษาทุกคน แต่หากนักศึกษาได้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนตามจังหวัดต่างๆ ก็สามารถฉีดก่อนได้ ทั้งนี้ ในส่วนนักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องไปฝึกสหกิจ หรือต้องทำงานด่านหน้า ทางมหาวิทยาลัยมีการจัดสรรในรอบนี้แล้วเช่นกัน
การฉีดวัคซีนจะทำให้มีภูมิคุ้มกันได้ในเวลาอันรวดเร็ว แม้ว่าบุคลากรทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ยังคงต้องยึดหลัก D-M-H-T-T โดยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง และหวังว่าทุกท่านจะร่วมแรงร่วมใจที่จะทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สามารถเปิดและดำเนินการได้ตามปกติในเร็ววัน ด้วยการสร้างความปลอดภัย สร้างกรอบคุ้มกันจากวัคซีน และปฎิบัติตาม D-M-H-T-T ต่อไป
“ขอเชิญชวนผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจให้มาฉีดวัคซีน เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง ศูนย์ฉีดวัคซีนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความพร้อมทั้งทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากร ไม่ต้องกังวลถึงผลข้างเคียง ซึ่งมีเพียงเล็กน้อย ไม่เป็นอันตราย มาฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ยิ่งฉีดเยอะเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยและคนรอบข้างก็จะมีความปลอดภัยขึ้นเช่นกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธารทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นพ.ปัณณวิชญ์ เบญจวลีย์มาศ หัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ขั้นตอนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลนครินทร์ มีตั้งแต่การเตรียมเอกสาร (ใบยินยอมฯ / ประวัติ),ลงทะเบียน (โดยใช้บัตรประชาชน), วัดไข้ / ความดัน / ชีพจร, ซักประวัติ / บันทึกข้อมูล, รอฉีดวัคซีน, ฉีดวัคซีน, พักสังเกตอาการ 30 นาที, รับบัตรนัดเข็มที่ 2 / เอกสาร ผู้รับบริการสามารถเข้ามาได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ บุคคลทั่วไป และผู้ป่วยรถเข็น พระภิกษุสงฆ์ และผู้พิการ ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนแล้วประมาณ 26,000 คน พบอาการข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“ศูนย์ฉีดวัคซีน ณ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความพร้อมทั้งทีมแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญ มีการจัดการอย่างเป็นระบบ อยากเชิญชวนทุกคนให้มารับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงของเชื้อ บุคลากรที่ทำงานตรงนี้มีความภูมิใจ และตั้งใจอย่างยิ่งที่จะช่วยกันดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่” นพ.ปัณณวิชญ์ กล่าว