นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตการณ์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ และสิ่งหนึ่งที่หลายๆคนคาดหวังคือ วัคซีน ซึ่งวัคซีนโควิด-19 มีหลายประเภทจากหลายบริษัท จำแนกจากขั้นตอนเทคนิคการผลิต วัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งใหม่ที่ผู้เชี่ยวชาญต้องศึกษาถึงปฏิกิริยาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญวัคซีนแต่ละประเภทล้วนมีจุดเด่น และมีข้อพึงระวังที่แตกต่างกันออกไป
เภสัชกร มหัศจรรย์ เลิศเกียรติรัชตะ ฝ่ายเภสัชกรรมโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 มีหลายยี่ห้อจากหลายบริษัท และการขั้นตอนการผลิตมีหลายวิธี ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลักๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แก่
- ประเภท mRNA vaccines หรือวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม
- ประเภท Viral vector vaccines หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ
- ประเภท Protein-based vaccines หรือวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2)
- ประเภท Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย เป็นการผลิตขึ้นจากการนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน
โดยวัคซีนแต่ละประเภทจะมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้รับวัคซีนแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันออกไปเช่นกัน
BioNTech/Pfizer และ Moderna
- mRNA vaccines หรือวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอีโบล่า วัคซีนชนิดนี้จะใช้สารพันธุกรรมของโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ออกมา
Johnson & Johnson, Sputnik V และ Oxford – AstraZeneca
- Viral vector vaccines หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ พัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้ว หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก มาตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ แล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งเทคนิคนี้เป็นวิธีที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบการติดเชื้อที่ใกล้เคียงธรรมชาติ
Protein-based: Novavax
- Protein-based vaccines หรือวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) โดยการนำเอาโปรตีนบางส่วนของโควิด-19 เช่น โปรตีนส่วนหนาม มาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ ก่อนฉีดเข้าร่างกาย แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบี
Sinopharm และ Sinovac
- Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย เป็นการผลิตขึ้นจากการนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน ก่อนฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เทคนิคนี้ผลิตได้ค่อนข้างช้า และต้นทุนสูง เนื่องจากต้องผลิตในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3
“วัคซีนจะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ร่างกายจะมีการจดจำว่าได้รับตัวเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เมื่อเราสัมผัสกับเชื้อโรคในครั้งต่อๆไป ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค”
จากภาพรวมการเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก พบว่า วัคซีนประเภท mRNA ถูกนำมาฉีดให้กับประชากรมากที่สุด รองลงมาคือ Inactivated Vaccine สำหรับประเทศไทย ได้มีบริการฉีดวัคซีน 2 ประเภทคือ ชนิดของวัคซีน Inactivated vaccines (วัคซีนชนิดเชื้อตาย) คือ Sinopharm, Sinovac และประเภท Viral vector vaccines (วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ) คือ AstraZeneca
มีรายงานการฉีดวัคซีนทั่วประเทศจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 8,022,029 ราย และผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 3,036,361 ราย ซึ่งพบมีผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงร้อยละ 5.72