Loading...
Uncategorized

ศูนย์อาสาสมัคร ม.สงขลานครินทร์ สร้างชื่อในเวทีโลก

ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมมนานานาชาติด้านจิตอาสา Dialogue on Volunteering for Resilient Recovery : Fostering Solidarity and Pulling Together through Adversity จัดโดย มหาวิทยาลัยปักกิ่ง Beijing International Studies University (BISU) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ห้องประชุม มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพื่อสร้างความร่วมมือ แบ่งปันประสบการณ์ บทบาทของอาสาสมัคร ในการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อโควิด-19 โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน เป็นสมาชิกจากองค์กรอาสาสมัครเยาวชนของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปักกิ่ง และอื่นๆ รวม 60 คน และตัวแทนจากต่างประเทศ 40 คน จากประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย คาซัคสถาน และยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก รวมทั้งตัวแทนจากสหประชาชาติ
นางวัลภา ฐาน์กาญจน์ หัวหน้างานบัณฑิตอาสาสมัคร ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้นำเสนอของไทย และได้รับคำชื่นชมจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นอย่างยิ่ง ในการทำงานเป็นระบบจากการนำเสนอเรื่อง ประสบการณ์โครงการบัณฑิตอาสาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับการพัฒนาชุมชนช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (The Experience of Graduate Volunteer Programme, Prince of Songkla University, in Community Development During Coronavirus Outbreak) 
 
นางวัลภา ฐาน์กาญจน์ กล่าวว่า อุดมการณ์ของอาสาสมัครไม่ว่าที่ใดในโลก เราสามารถช่วยเหลือสังคมได้ เริ่มแรกด้วยการเห็นคุณค่าในตัวเรา และเห็นคุณค่าของผู้อื่น รูปแบบงานอาสาสมัครในภาวะวิกฤต ไม่มีข้อจำกัดสำหรับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อย่าคิดว่ามีโรคระบาดจะทำงานไม่ได้ มองให้เห็นว่ามีช่องว่างอะไรที่สังคมยังต้องการ บางคนกลัวเพราะขาดความรู้ที่ถูกต้อง ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับอาสาสมัคร
 
เริ่มแรกโครงการบัณฑิตอาสา ที่ให้บัณฑิตเก็บข้อมูลในชุมชนของตนเอง ทำให้ได้รู้จักชุมชนตนเอง ได้ศึกษาชุมชนของตนเอง ได้เรียนรู้ว่ามีสถานที่ดีๆ มีคนดีๆ อยู่ในชุมชน ในช่วงแรกอาสาสมัครได้สำรวจการเข้าถึงการเยียวยา การทำหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ มอบแก่ชุมชน

ข้อมูลที่นำไปแลกเปลี่ยนในเวทีนานาชาติ คือ ประสบการณ์ของบัณฑิตอาสามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีระยะเวลาปฏิบัติงานในชุมชน 1 ปี ทำงานในชุมชนต่างพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิต ให้มีความสามารถในการพัฒนาชุมชน และพัฒนาบทบาทมหาวิทยาลัยให้สามารถทำงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งได้ดำเนินงานครบ 15 รุ่น รวมบัณฑิตอาสาที่จบไปแล้ว 258 คน

โครงการบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด (โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโครโรนา 2019) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท /คน ทั้ง 2 ระยะ รวม 800 ตำแหน่ง ระยะเวลาดำเนินการ ระยะแรก 4 เดือน (26 พฤษภาคม – 26 กันยายน 2563) ระยะที่สอง 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน 2563) บัณฑิตอาสาทำหน้าที่ ได้แก่ 1. รวบรวมข้อมูล 2. งานด้านวิเคราะห์และจัดทำแผน 3. งานด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี
 
โดยบัณฑิตได้รับการจ้างงานทั้งสองระยะ จำนวน 774 คน จากยอดผู้สมัคร 3,547 คน จาก 20 กว่าสถาบัน ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้ง 5 วิทยาเขต 
 
หลังจากเกิดวิกฤตการระบาดของโรค งานพัฒนาอาสาสมัครได้ปรับแผนการดำเนินงานให้สอดรับกับสถานการณ์ เนื่องจากนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต้องปฏิบัติตามประกาศของทางมหาวิทยาลัยที่ไม่อนุญาตให้มีการรวมตัวกัน โดยเน้นร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น

สำหรับแผนการดำเนินงานของศูนย์อาสาสมัครได้รับอนุมัติโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จำนวน 8 ตำบล ใน 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ตรัง และสงขลา เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 – 31 ธันวาคม 2565 เป็นระยะเวลา 11 เดือน พร้อมบูรณาการแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างงานพัฒนาอาสาสมัคร และงานบัณฑิตอาสา ให้เอื้อต่อการทำงานเพื่อสนองปัญหาและวิกฤติของสังคมที่เกิดขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษา บุคลากร ตลอดจนผู้เกษียณมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างโครงการที่มาแลกเปลี่ยนในเวทีนี้ เช่น การแปลภาษาเกี่ยวกับแนวการป้องกันตนเองจากโควิด-19 โดยนักศึกษา สำหรับชุมชนเผ่าต่างๆ ในประเทศจีน ทีมงานอาสาสมัครของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ไปช่วยเหลือและมอบของอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบอุทกภัยในมาเลเซีย โดยมีทีมงานและนักศึกษาที่สามารถพูดภาษามลายูได้

นอกจากนี้ การสัมมนานานาชาติครั้งนี้ ยังมีการนำเสนองานวิจัยที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น งานวิจัยของประเทศรัสเซีย มีการสำรวจการทำงานอาสาสมัครในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ พบว่า ประชาชน 1 ใน 5 คิดถึงอาสาสมัครเมื่อต้องการการช่วยเหลือ ประชาชน 3 ใน 4 มองว่างอาสาสมัครเป็นพลังที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคม และกว่าร้อยละ 40 มีความพอใจมากต่อผลงานของอาสาสมัคร

สำหรับประวัตินางวัลภา ฐาน์กาญจน์ จบการศึกษาด้านพยาบาล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพยาบาลประจำการหออภิบาลผู้ป่วย ไอ ซี ยู เป็นหัวหน้าหอผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้เข้ารับผิดชอบโครงการบัณฑิตอาสา กับสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ปัจจุบันศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการอนุมัติจัดตั้งอย่างเป็นทางการจากสภามหาวิทยาลัย โดยนางวัลภา ฐาน์กาญจน์ เป็นหัวหน้างานบัณฑิตอาสาพัฒนาสังคม นายรชดี้ บินหวัง เป็นหัวหน้างานพัฒนาอาสาสมัคร และ ผศ. ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมจิตสาธารณะ และการพัฒนาที่ยั่งยืน รักษาการผู้อำนวยการศูนย์อาสาสมัคร

Share :