Loading...
Uncategorized

คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ. จับมือ สสส. นำผู้ป่วยจิตเวชกลับสู่ครอบครัวและสังคม

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการบูรณาการการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน เพื่อพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเวชทั้งในระดับครอบครัว และชุมชน ในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นต้นแบบของประเทศ “แว้งโมเดล” ในการสร้างองค์ความรู้ โดยจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ จัดทำคู่มือให้ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหายาเสพติด เมื่อกลับสู่ครอบครัว จะได้มีอาชีพ ชุมชนยอมรับ โดยมีเครือข่ายโรงพยาบาลแว้ง สำนักงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมดำเนินการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน

จากปัญหาเศรษฐกิจการว่างงานจากวิกฤตโควิด-19 ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถเดินทางไปไปทำงาน ณ ประเทศมาเลเซียได้ ต้องตกงาน เกิดความเครียด ซึมเศร้า และเนื่องจากอำเภอแว้งเป็นพื้นที่รอยต่อช่องทางธรรมชาติระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเส้นทางของแหล่งยาเสพติด เช่น เฮโรอีน จึงทำให้มีอัตราผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ

โครงการฯ ดำเนินงานโดย ดร.วีณา คันฉ้อง, ผศ. ดร.อรวรรณ หนูแก้ว, ดร.พิเชษฐ์ สุวรรณจินดา, ดร.ปุณยนุช สุทธิพงค์, อาจารย์กรวิกา บวชชุม และ อาจารย์จุฑามาศ สุวรรณวัฒน์ ภายใต้การสนับสนุนของ คุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รศ. ดร.นงนุช บุญยัง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ นายรุสดี ปูรียา นายอำเภอแว้ง จ.นราธิวาส และคุณไซนะ มรรคาเขต คุณซาหาบูดิง ยะโกะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส 

ดร.วีณา คันฉ้อง และ ผศ. ดร.อรวรรณ หนูแก้ว เปิดเผยถึงรูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ด้วยการพัฒนาศักยภาพของการดูแล โดยมีการจัดอบรม และการจัดการกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อน คณะทำงานร่วมกันเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวชและให้การดูแลต่อเนื่อง โดยการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข อสม. จัดอบรมเชิงปฎิบัติการ จัดการกรณีผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน และได้จัดตั้งทีมการจัดการรายกรณี สำหรับดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อน ในพื้นที่เป้าหมายท้องถิ่น 6 แห่ง ในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อบต.เอราวัณ, อบต.กายูคละ, อบต.โละจูด, อบต.แว้ง และ ทต.แว้ง และกำลังพัฒนา iMed@home application ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานงานของทีมการจัดการรายกรณีในการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยจิตเวชยุ่งยากซับซ้อน และจัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายกลุ่มแกนนำทุนทางสังคม จิตอาสา และกลุ่มผู้ดูแลครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช เพื่อการฟื้นคืนสู่ชุมชุมของผู้ป่วยจิตเวช
“ใช้จุดแข็งความร่วมมือของชุมชน โดยใช้หลักการความร่วมมือ 4 + 1 คือ ภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาชน และองค์กรศาสนา หากชุมชนร่วมกันดูแลผู้ป่วยอย่างดี จะลดการกลับไปป่วยซ้ำ ระบบวิถีของศาสนา ช่วยหนุนเสริมเพิ่มเติมความแข็งแกร่ง ฟื้นฟูศักยภาพของตนเอง ฟื้นฟูสภาพจิตใจ ให้ชุมชนดึงคนที่เป็นเสาหลักมาช่วย ให้ผู้ป่วยฟื้นฟูศักยภาพของตัวเอง จนพึ่งพาตัวเองได้ และดึงคนที่มีจิตอาสาเข้ามาสร้างอาชีพที่ผู้ป่วย ทั้งนี้ จะเริ่มต้นในพื้นที่ อบต.แว้ง ในการจัดทำโมเดลการฟื้นฟูสภาพทางจิตสังคมสำหรับผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงเรียนชาวนา ให้ใช้พื้นที่เพื่อจัดตั้งศูนย์การฟื้นฟูสภาพทางจิตสังคมในชุมชน คาดหวังว่าจะเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับชุมชนอื่นๆ ต่อไป” 
โครงการฯ ได้สร้างชุดเครื่องมือประเมินปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช สำหรับผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มอายุ 12-18 ปี กลุ่ม 19-59 ปี กลุ่มอายุ 60 ปี ขึ้นไป กลุ่มที่มีปัญหาด้านภาวะซึมเศร้า เช่น กลุ่มผู้ดูแล ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเครือข่ายระบบบริการสุขภาพด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถอาสาสมัครและผู้ดูแลในครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชที่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อสร้างองค์ความรู้จากการสังเคราะห์ผลที่เกิดจากการดูแลผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชนโดยชุมชนท้องถิ่นให้เป็นเห็นถึงความสัมพันธ์ของโครงข่ายในชุมชนที่เชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพในทุกระดับ
 
ทั้งนี้ ทีมงานคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ลงพื้นที่เพื่อจัดโครงการอบรมเครือข่ายเชิงปฏิบัติการการดูแลและจัดการผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินในชุมชน ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ได้จัดฝึกอบรมให้กับแกนนำไปแล้วอย่างครบถ้วนคลอบคลุมทั้ง 6 อปท. และยังจัดทำนวัตกรรมสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินในชุมชน
Share :