Loading...
Uncategorized

ปูลมยักษ์เกาะพระทอง ปูลมชนิดหายาก ประเทศไทยเจอได้เพียงที่เดียว

ผลงานการค้นพบส่วนหนึ่งจากโครงการ “สถานภาพประชากรของสัตว์ป่าบนเกาะพระทอง จ.พังงา: การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพหลัง 10 ปี ภัยพิบัติสึนามิ” ที่ดำเนินการเมื่อปีพ.ศ. 2560–2562 โดยบุคลากรของทางพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ภายใต้ทุนจากอพ.สธ. ผ่านทางงบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็คือการค้นพบปูลมขนาดใหญ่ชนิด Ocypode brevicornis H. Milne Edwards, 1837 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อยังไม่เป็นที่รู้จักในทางวิชาการของประเทศไทยมาก่อน จึงได้ทำการตั้งชื่อภาษาไทยไว้สำหรับใช้ในการสื่อสารกันภายในประเทศว่า “ปูลมยักษ์เกาะพระทอง” ตามลักษณะเด่นและพื้นที่ที่พบปูชนิดนี้
 
ปูลมยักษ์เกาะพระทองมีลักษณะคล้ายกับปูลมตายาว O. ceratophthalmus (Pallas, 1772) เนื่องจากเมื่อเข้าสู่งช่วงเต็มวัยจะมีติ่งคล้ายเขางอกต่อขึ้นมาจากด้านบนของลูกตา แต่ส่วนที่แตกต่างกันคือในปูลมยักษ์เกาะพระทองจะมีกระดองสีเหลือง ไม่มีลายวงเล็บสีน้ำตาลบนกระดองส่วนท้าย ส่วนตั้งแต่กระดองด้านล่างจนถึงด้านท้องมีสีขาวหรือเหลือง กระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างไปทางด้านข้างมากกว่ายาว ปล้อง merus ของก้ามและขามีสีเหลืองเหมือนกระดอง ขาเดินสองคู่แรกตรงส่วนปล้องรองจากปลายสุด (propodus) ไม่มีแถบขน บริเวณฝ่ามือของก้าม มีตุ่มกลมเรียงเป็นแถวจำนวน 23–28 อัน
 
เดิมมีการรายงานพบปูลมยักษ์เกาะพระทองในเขตชายฝั่งของประเทศอินดีย ศรีลังกา และหมู่เกาะนิโคบาร์ การค้นพบเฉพาะที่เกาะพระทองทางฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยจึงดูเหมือนจะเป็นขอบ ๆ ส่วนปลายของการแพร่กระจายชองปูชนิดนี้ ส่วนบริเวณอื่น ๆ ในประเทศไทยก็อาจจะมีโอกาสพบเจอได้บ้างเช่นกัน โดยหากมีลักษณะแหล่งอาศัยที่คล้ายคลึงกันกับที่พบทางฝั่งตะวันตกของเกาะพระทองอันได้แก่หาดที่มีความลาดชันสูง มีเม็ดทรายที่ค่อนข้างหยาบ และเงียบสงบมีการรบกวนจากนักท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย ก็อยากจะชวนให้ช่วยกันสังเกตดูลักษณะของปูลมที่พบกัน ท่านผู้อ่านจะเป็นผู้ค้นพบการกระจายใหม่เพิ่มเติมให้กับปูชนิดนี้ก็ได้นะ
 
โดยทั่วไปปูลมเป็นปูที่เก็บกินซากสิ่งมีชีวิตที่ถูกซัดขึ้นมาบนชายหาดกินเป็นอาหาร ทำหน้าที่เหมือนเป็นเทศบาลช่วยทำความสะอาดให้กับหาดทราย ส่วนปูลมที่ยังมีขนาดเล็กนอกจากซากแล้วยังมีการตักคีบก้อนทรายเข้าปากกินอินทรียสารและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ ที่เรียกว่ามายโอฟาวนา (meiofauna) เข้าปาก ไปดูดกรองเอาแต่สิ่งที่กินได้เหล่านี้เข้าไปแล้วจึงคายดินทรายเปล่าและน้ำออกมา ปั้นทรายเป็นรูปทรงรี ๆ นอกจากนั้นเมื่อโตขึ้นก็จะมีความเป็นนักล่ามากขึ้น สามารถล่าสัตว์ขนาดเล็กตั้งแต่ตัวกุ้งเต้นไปจนถึงขนาดใหญ่ขึ้นเช่นปูชนิดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดเดียวกันที่มีขนาดเล็กกว่ามันกินเป็นอาหาร ปูลมยักษ์เกาะพระทองก็เช่นเดียวกัน โดยจากการสังเกตพบว่าช่วงฤดูที่พบปูลมยักษ์เกาะพระทองอยู่เยอะบนชายหาด จะมีปูลมตายาวออกมาให้เจอไม่เยอะ แต่เมื่อไหร่ที่เป็นช่วงที่ปูลมยักษ์เกาะพระทองหายไปจะมีปูลมตายาวออกหากินในพื้นที่เดียวกันจำนวนมากแทน ปูลมยักษ์เกาะพระทองจึงเป็นตัวที่ควบคุมประชากรของปูลมตายาวในบริเวณนี้ทั้งโดยวิธีการล่าโดยตรง และน่าจะโดยการแก่งแย่งอาหารด้วย
 
หากใครได้มีโอกาสไปเยือนเกาะพระทองก็ลองไปชมปูลมชนิดหายากที่เจอได้ที่เดียวในประเทศไทยชนิดนี้กันนะครับ
 
เรียบเรียงบทความโดย
คุณเรืองฤทธิ์ พรหมดำ
นักวิทยาศาสตร์ ประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาฯ
Share :