Loading...
Uncategorized

โควิด-19 เพิ่มฟ้าทะลายโจรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รักษาผู้ป่วยโควิดความรุนแรงน้อย

คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพิ่มยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร และยาจากผงฟ้าทะลายโจร เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 ตามประกาศในราชกิจจจานุเบกษาที่ออกเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ให้เป็นยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย

เมื่อเดือน เม.ย. 2563 หรือกว่า 1 ปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยผลการศึกษาประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากนั้นได้มีการทดลองใช้ในผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงน้อย ระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ค.

ฟ้าทะลายโจร ที่ระบุในราชกิจจานุเบกษา มี 2 ประเภทที่ใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และยาผงฟ้าทะลายโจร โดยเป็นยาชนิดแคปซูล และยาเม็ด

เงื่อนไขการใช้ทั้งสองชนิด ระบุตรงกันว่า ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง และเป็นยาเฉพาะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีการควบคุมปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังให้ใช้ยาได้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และมีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ใช้องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย ศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยเพื่อใช้เป็นยาทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 พบว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจร มีผลยับยั้งเชื้อไวรัส และมีฤทธิ์ต้านการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส หากนำมาใช้ร่วมรักษากับการแพทย์แผนปัจจุบันในผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีระดับความรุนแรงน้อย (ไม่มีภาวะปอดอักเสบ) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นตามลำดับ และแทบไม่พบผลข้างเคียง

สธ. เริ่มศึกษาประสิทธิผลของฟ้าทะลายโจร เมื่อปีที่แล้ว

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2563 หน่วยงาน 3 กรม ของกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการศึกษาประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เตรียมศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ระดับความรุนแรงน้อยในเดือน เม.ย.-ก.ค.

คำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา กระทรวงสาธารณสุข คือ กินทันทีเมื่อมีไข้ แต่ไม่ควรกินเพื่อป้องกันโรค

การวิจัยฟ้าทะลายโจรกับไวรัสโควิด-19 เป็นความร่วมมือของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเริ่มต้นวิจัยเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรค โดยที่ยังไม่มีอาการเพราะไม่มีผลในการป้องกัน

รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย กล่าวว่าในการรับประทานฟ้าทะลายโจร ให้รับประทานทันทีเมื่อเริ่มมีอาการคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ (flu-like symptoms) ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจอื่น โดยรับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง (ครั้งละประมาณ 1,500 มิลลิกรัม) หลังอาหารและก่อนนอน

ส่วนสารสกัดฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 1 หรือ 2 แคปซูล เพื่อให้ได้รับสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 20 มิลลิกรัม ต่อครั้ง วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร การรับประทานยาทั้งสองแบบในขนาดที่แนะนำ จะให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 60 มิลลิกรัมต่อวัน

แพทย์ยังแนะนำให้มียาฟ้าทะลายโจรเป็นยาประจำตัวและยาประจำบ้าน อาจใช้ร่วมกับยาพาราเซตามอลได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์

ส่วนความคืบหน้าการทดลองในคน กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และองค์การเภสัชกรรม ศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด- 19 ระดับความรุนแรงน้อย ในระหว่างเดือน เม.ย.- ก.ค.นี้

ด้าน ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผอ.สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาศึกษาฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด-19 ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลอง โดยทำการศึกษาจากสารสกัดหยาบเทียบกับแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่เป็นสารสำคัญ พบว่า กลไกต้านไวรัสโควิด-19 สามารถทำลายไวรัสโดยตรง และต้านไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนเซลล์ได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการชักนำให้เซลล์หลั่งสารที่ช่วยยับยั้งไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรค และจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยในคนต่อไป

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจรที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

  • ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น
  • หากมีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาทันทีและไม่ใช้อีก
  • ควรระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต และการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้แขนขาชา หรืออ่อนแรง
Share :