Loading...
Uncategorized

วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.อ. ทำชุดปฏิบัติการฮาร์ดแวร์ ส่งให้ นศ. ถึงบ้าน เรียนออนไลน์ได้ฝึกปฎิบัติ

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาชุดปฎิบัติการฮาร์ดแวร์แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่3 เพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการปฎิบัติ เช่นเดียวกับมาเรียนในห้องปฎิบัติการของคณะ พร้อมจัดส่งถึงบ้าน “ฝึกปฏิบัติ หัดทดลอง ส่งของถึงบ้าน ต้านภัยโควิด”

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 รศ. ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผศ. ดร.นิคม สุวรรณวร หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผศ. ดร.ปัญญยศ ไชยกาฬ ประธานหลักสูตร และบุคลากรของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ร่วมจัดกิจกรรมส่งชุดทดลองปฏิบัติการฮาร์ดแวร์ให้แก่นักศึกษาในระดับชั้นปีที่ 2 และ 3 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จำนวน 210 ชุด ราคาชุดละ 1,400 บาท รวมมูลค่า 294,000 บาท (ถ้าจัดซื้อโดยทั่วไปราคาชุดละ 2,500 – 5,000 บาท) เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ปฏิบัติการด้านฮาร์ดแวร์จากบ้านได้ สนับสนุนให้การเรียนการสอนแบบออนไลน์จากบ้านในยุคโรคระบาดโควิด 19 ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

การพัฒนาชุดปฏิบัติการดังกล่าวนำทีมโดย ผศ. ดร.ปัญญยศ ไชยกาฬ ประธานหลักสูตร คุณอนุชา รัตนะ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ดูแลห้องปฏิบัติการฮาร์ดแวร์ คุณไพบูลย์ บุญถวิล ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ดูแลห้องปฏิบัติการฮาร์ดแวร์ และคุณอนันต์ นิลโกสีย์ ช่างไฟฟ้า

ผศ. ดร.ปัญญยศ ไชยกาฬ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ได้ประชุมคณาจารย์ที่สอนด้านฮาร์ดแวร์ เห็นควรที่จะจัดส่งอุปกรณ์ให้นักศึกษาได้ฝึกปฎิบัติที่บ้าน จึงได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 โดยพัฒนาอุปกรณ์ให้เล็กลง มีประสิทธิภาพเท่ากับการมาฝึกปฎิบัติที่คณะ บุคลากรของสาขาวิชาร่วมใจผลิตและส่งมอบให้นักศึกษาอย่างมุ่งมั่นและหวังว่าการเรียนในยุคออนไลน์นี้จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

  รศ. ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้นักศึกษาเรียนออนไลน์ 100% ขอชื่นชมคณาจารย์และบุคลากร ที่ดำเนินการส่งเสริมการฝึกปฎิบัติของนักศึกษาเพื่อให้มีทักษะฝึกปฎิบัติด้านฮาร์ดแวร์ ขอบคุณคณาจารย์และบุคลากรทุกท่าน ขอให้กำลังใจและดำเนินการลักษณะอย่างนี้ต่อไป

บุคลากรสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ได้มีการออกแบบ คิดค้น และผลิตชุดปฏิบัติการด้านฮาร์ดแวร์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ให้มีขนาดเล็ก และรองรับการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และ 3 ได้แก่ ชุดปฏิบัติการ Digital Experiment Board และ ชุดปฏิบัติการ FPGA Development Board ตามลำดับ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ครบตามเนื้อหาของหลักสูตร

ชุดปฏิบัติการ Digital Experiment Board รองรับรายวิชาปฏิบัติการ 240-202 Computer Engineering Hardware Laboratory I ซึ่งประกอบด้วย 9 หัวข้อด้านอิเล็กทรอนิคส์ ได้แก่ Circuit Simulator, PCB design I, PCB design II, Clock Generator, Transistor Amplifier, NodeMCU Wi-Fi Connection, Intro to Electronic Measurement, Intro to Arduino, Analog interfacing และ RC Servo ตามลำดับ
 
ชุดปฏิบัติการ FPGA Development Board รองรับรายวิชาปฏิบัติการ 240-301 Advanced Computer Engineering Laboratory I ซึ่งประกอบด้วย 4 หัวข้อปฏิบัติการด้าน FPGA ได้แก่ Introduction to FPGA design using Verilog, Stop Watch, Easy Sound Generator และ Music Box using FPGA
Share :