เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อโควิคด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ว่าชุดตรวจ Antigen และ Antibody มีลักษณะคล้ายกันแต่ Antibody ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะเป็นการใช้เลือดตรวจ แต่ที่สามารถใช้ได้คือชุดตรวจ Antigen เพราะจะใช้สารคัดหลั่งในการตรวจ
.
ซึ่งขณะนี้องค์การอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนชุดตรวจ Antigen Test Kit จำนวน 19 ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตรวจได้ โดย 17 ผลิตภัณฑ์ใช้ตรวจจากโพรงจมูก และมี 1 ชนิดตรวจได้ทั้งจมูกและน้ำลาย และมี 1 ชนิดที่ตรวจได้เฉพาะน้ำลายเพียงอย่างเดียว ซึ่งเมื่อตรวจแล้วจะมีทั้งผลบวกและผลลบ กรณีที่ตรวจเองแล้วผลเป็นลบสามารถแปลได้ว่าไม่ติดเชื้อโควิด หรืออาจจะเกิดผลลบลวง คืออาจจะติดเชื้อแต่เชื้อมีจำนวนน้อย จึงต้องเคร่งครัดในการกักตัวก่อน จากนั้นอีก 1-2 วันสามารถตรวจซ้ำได้อีก แต่ถ้าหากมีผลเป็นบวกขอให้แจ้งโรงพยาบาลศูนย์บริการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อทำการรักษาต่อไป
.
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ชุดตรวจ Antigen Test Kit เป็นเครื่องมือแพทย์ไม่อนุญาตให้ขายออนไลน์หรือตามตลาดนัด หรือในร้านสะดวกซื้อ จะต้องซื้อในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ เพราะจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องคุณภาพ และจะต้องมีการอธิบายให้เข้าใจว่า เมื่อตรวจออกมาแล้วผลเป็นอย่างไร
.
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่ามีการลักลอบขายทางออนไลน์มีราคาที่ค่อนข้างสูง ถ้าหากราคาสูงจนเกินไป ขอให้อย่าซื้อ เพราะขณะนี้มี 19 ยี่ห้อแล้ว และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และราคาจะถูกลง และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้นำมาจำหน่ายไม่เกิน 200 บาทต่อชุด และให้ซื้อได้ไม่เกินคนละ 3 ชุด
.
ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงมาตรการหลังตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุด Antigen Test Kit แล้วพบว่าติดเชื้อ (ใน กทม.) ว่า หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าติดเชื้อสามารถเดินทางไปตรวจรับบริการได้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนใน กทม. ซึ่งในระบบของทุกโรงพยาบาลมีความสามารถในการตรวจโควิดได้อย่างน้อย 132 แห่ง โดยเมื่อตรวจแล้วพบว่ามีผลติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล
.
“ถ้ามีอาการหรือเราสงสัยว่ามีอาการของโควิด เราอยากเดินไปที่โรงพยาบาล อันดับแรกไปรับบริการตรวจได้ทุกโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนใน กทม. ซึ่งในระบบของโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลมีความสามารถตรวจโควิดได้ เรามีโรงพยาบาลอย่างน้อย 132 แห่งใน กทม. ตรงนี้เมื่อตรวจแล้ว ไม่ว่าผลตรวจด้วย Antigen Test Kit หรือแบบมาตรฐานแบบ RT-PCR ทั้งสองวิธีนี้ สามารถนำพี่น้องเข้าสู่ระบบการรักษาได้” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
.
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อทุกคนมาสู่โรงพยาบาลแล้วมีผลติดเชื้อเป็นบวก แต่หากพบไม่มีอาการก็จะให้ใช้ระบบกักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) โดยจะดำเนินการในวันที่ตรวจพบเชื้อทันที โดยจะมีการลงทะเบียนและมีการให้กล่องอุปกรณ์ดูแลตัวเองได้ ซึ่งหากจำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ก็ได้รับยาในวันนั้นทันที และจะมีการติดตามผลเป็นเวลา 14 วัน โดยขณะนี้มีประชาชน 60,000 ราย เข้าสู่ระบบดังกล่าวเต็มรูปแบบจากระบบสาธารณสุขแล้ว และตั้งเป้าหมาย 100,000 รายใช้ระบบดังกล่าว
.
ส่วนการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ศูนย์พักคอยการส่งตัวของ กทม. มี 46 แห่ง จำนวน 5,295 เตียง มีผู้ป่วยเข้าไป 4,000 รายแล้ว ตั้งเป้าหมายศูนย์พักคอยการส่งตัวของ กทม. เพิ่มเป็น 68 แห่ง จำนวน 10,000 เตียง โดยกระจายไปทุกเขต มีการดำเนินการโดยชุมชนเองอีกประมาณ 100 แห่ง ส่วนหากมีอาการก็มีโรงพยาบาลสนาม 14 แห่ง 7,000 กว่าเตียง Hospitel มี 120 แห่ง มี 35,000 เตียง แต่จะต้องขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ส่วนโรงพยาบาลหลักที่เป็น ICU เตียงระดับสีแดง ประมาณ 4,000 เตียงรวมภาคเอกชนด้วย ยืนยันประชาชนที่ติดเชื้อโควิดจะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
.
“ทุกคนไปตรวจโรงพยาบาลแล้ว จะไม่ได้เฉพาะผลแล็บกลับไป แต่ได้รับบริการ หนึ่ง สอง สาม สี่อย่างนี้กลับไปบ้าน” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
.
ทั้งนี้ นพ.ณัฐพงศ์ ยืนยันว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีอยู่อย่างเพียงพอ รัฐบาลได้สั่งเข้ามาสามารถใช้ได้เป็นเดือน ส่วนประชาชนที่ยังไม่ได้รับเข้าสู่ระบบบริการสามารถติดต่อลงทะเบียนผ่านเบอร์โทรศัพท์ 1330 เบอร์เดียวของ สปสช. ซึ่งจะมีการจัดการให้สามารถเข้าสู่ระบบบริการได้ทันเวลา และทำให้เกิดความปลอดภัย