Loading...
Uncategorized

ยกระดับพืชอัตลักษณ์ภาคใต้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเชิงพาณิชย์

ผศ.ดร.ปุณณาณี สัมภวะผล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (หน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนา ม.อ.) กล่าวว่า ภาคใต้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่มีทั้งความโดดเด่นและมีคุณประโยชน์หลากหลาย สำหรับการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 – 2564 ในพื้นที่ภาคใต่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จากการทำงานร่วมกันระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ในการสำรวจพืชอัตลักษณ์ประจำของแต่ละจังหวัดและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการนำความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการพัฒนาพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย ได้แก่

1. จังหวัดระนอง คือ กาแฟโรบัสต้าและมะม่วงหิมพานต์

  • เดิมจังหวัดระนองปลูกและคั่วกาแฟค่อนข้างเยอะ ทำให้มีเปลือกหุ้มเมล็ดกาแฟและดอกกาแฟเป็นวัตถุดิบเหลือใช้ ผศ.ดร.ก่องกาญจน์ กิจรุ่งโรจน์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. จึงได้นำดอกกาแฟมาอบด้วยการใช้มาตรฐานการอบที่ยังคงกลิ่นไว้และคุณประโยชน์ไว้และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากดอกกาแฟรสชาติต่างๆ เช่น สูตรหวาน, สูตรออริจินอลและสูตรหวานน้อย(น้ำตาลหญ้าหวาน) เป็นต้น อีกทั้งมีกลิ่นหอมจากดอกกาแฟและสารต้านอนุมูลอิสระ
  • ด้วยรสชาติของเนื้อมะม่วงหิมพานต์ มีความขมและฝาดจึงต้องผ่านกระบวนการดึงสารที่มีความขมฝาดออกมาโดยการคลุกกับน้ำตาลแล้วนำมาแปรรูปเป็นแยมที่อุดมไปด้วยใยอาหาร มีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์

2. จังหวัดพังงา คือ ขมิ้นชันและสาหร่ายพ่วงองุ่น

  • ขมิ้นชัน มีสรรพคุณในการรักษาแผล ลดรอยดำและรอยแดง เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าวทำให้มีคุณสมบัติที่โดดเด่นจึงได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปาก บาล์มทาผิว น้ำมันบำรุงเล็บ และเมื่อน้ำขมิ้นชันมาผสมกับน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอม เป็นผลิตภัณฑ์โลชั่นไล่ยุงสำหรับเด็ก และเจลนวดแก้ปวดเมื่อยเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ในธุรกิจสปา Andaman Wellness และสมุยโมเดลอีกด้วย
  • สาหร่ายพ่วงองุ่น ได้รับการพัฒนาเป็นสาหร่ายพวงองุ่นอบแห้งเพื่อส่งออก และโอ้เอ๋วสาหร่ายพวงองุ่น ช่วยเพิ่มคุณประโยชน์ที่หลากหลาย และเป็นอัตลักษณ์ที่มีการผสมผสานระหว่างจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา

3. จังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการพัฒนาแปรรูปในรูปแบบเดียวกันกับขนิ้นชัน จ.พังงา แปรรูปเป็นน้ำยาบ้วนปาก โลชั่นไล่ยุง น้ำมันบำรุงเล็บ เป็นต้น

4. จังหวัดตรัง คือ พริกไทยปะเหลียน

นอกจากการจำหน่ายเมล็ดพริกไทย พริกไทยตากแห้ง ยังมีการนำก้านพริกไทยมาอบแห้งและนำมาบดแปรรูปเป็นชาชงสำหรับดื่มมีกลิ่นเผ็ดร้อนแต่ไม่เข้มข้นเท่าพริกไทย สามารถช่วยขับเหงื่อและขับปัสสาวะได้เป็นอย่างดี

5. จังหวัดสตูล คือ จำปาดะ

เนื่องจากจำปาดะเป็นผลไม้ตามฤดูกาลและมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ รศ.ดร.เถวียน วิทยา คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. จึงได้นำมาแปรรูปเป็นวาฟเฟิลที่มีกลิ่นจำปาดะอ่อนๆไม่ฉุนและได้ทดลองจำหน่ายในงาน Lanna Expo 2022 จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

6. จังหวัดสงขลา คือ ตาลโตนด

โดยรวมของตาลโตนด 30-40% จะเป็นผลแก่จากการวิเคราะห์พบว่ามีไฟเบอร์ที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ดังนั้นจึงนำมาแปรรูปให้มีความหนึบแต่ไม่เหนียวแล้วเพิ่มความหวานจากน้ำตาลหล่อฮังก๊วยที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่รักษสุขภาพ

ผศ.ดร.ปุณณาณี สัมภวะผล กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร ม.สงขลานครินทร์ ได้มีการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแปรรูปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการร่วมกับศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อ. สำหรับการแนะนำให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการด้านการตลาด การออกแบบ การประชาสัมพันธ์ การถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ เป็นต้น โดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่เพจ Facebook : สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร

Share :