Loading...
Uncategorized

“สงขลานครินทร์” พัฒนาองค์กรมุ่งประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ปี 2564

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการประกาศให้ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class – TQC) ปี 2564 ในการแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 จัดโดย สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดยได้รับเกียรติจาก นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธี และ ผู้ช่วยศาสตราตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ พญ.กรัณฑ์รัตน์ สุนทรพันธ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ ร่วมการแถลงข่าว

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับองค์กรที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยืนหยัดท้าทายจากวิกฤตต่างๆ ด้วยมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล โดยมีผู้บริหารองค์กรต่างๆ เข้าร่วมการแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติในครั้งนี้ จำนวน 14 องค์กร

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ จัดตั้งขึ้นโดยมีเจตจำนงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรและทรัพยากรของภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มี 5 วิทยาเขต ก็เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรในภาคใต้ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งทะเล ทำให้เรามีโอกาสในการพัฒนาที่หลากหลาย ทั้งการศึกษา การวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ และการบริการวิชาการ ในสังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดระยะเวลา 55 ปี 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ยึดถือพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ในการทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กร เรามุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยใช้ความสามารถของบุคลากรอย่างเต็มที่ จนสามารถเป็นที่พึ่งของภาคใต้ในหลายด้าน ทั้งในด้านการแพทย์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทะเล อาหารและเกษตร และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหลายด้านของภาคใต้ องค์ความรู้และนวัตกรรมที่เราสร้างสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ การเป็นมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ในการบริหารจัดการ 

ในปี 2558 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้ใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในทุกระดับ ทำให้เราเห็นโอกาสในการพัฒนาระบบ PSU system และเครือข่ายความร่วมมือให้เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถนำพามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย สร้างนวัตกรรมเพื่อภาคใต้ ประเทศชาติ และสังคมโลกให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
Share :