ศูนย์วิจัยระบบการป้องกันและดูแลผู้บาดเจ็บและฉุกเฉิน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รศ. ดร.ประณีต ส่งวัฒนา ผู้อำนวยการ และหัวหน้าชุดโครงการ SECSI South (Smart Emergency Care Services Integration- South) จัดประชุมวิชาการ “ก้าวสู่มิติใหม่ของนวัตกรรมบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร ภาคใต้” โดยได้รับเกียรติจาก รศ. นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธาน ณ ห้อง Grand Convention Hall A ชั้น 8 โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 65
งานดังกล่าวเป็นโครงการที่รวมทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายหลักที่ทำงานในพื้นที่ได้ร่วมกันออกแบบพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจรในภาคใต้ เป็นการวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ ที่ดำเนินการในพื้นที่เกือบทุกจังหวัดของภาคใต้
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอรูปแบบ/นวัตกรรม/หลักสูตรต้นแบบ/ชุดความรู้ ที่เน้นส่วนสำคัญของผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และสะท้อนความสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินแบบครบวงจรในมิติใหม่ 4 โซน ได้แก่ 1. โซน Aquatic EMS and EMSPlus 2. โซน Community-based approach for living with COVID-19 3. โซน Innovative approach for injury prevention and trauma care และ 4. โซน Comprehensive emergency care services for older people
- โครงการที่ 1 การพัฒนาระบบการป้องกันอุบัติเหตุโดยมีชุมชนเป็นฐาน: แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ นำโดย นพ.เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา
- โครงการที่ 2 การพัฒนาต้นแบบหลักสูตรและระบบจัดการภาวะฉุกเฉินทางทะเล นำโดย รศ. นพ.ประสิทธิ์ วุฒิสุทธิเมธาวี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- โครงการที่ 3 การพัฒนาช่องทางพิเศษในการเข้าถึงบริการและยกระดับศักยภาพเพื่อเสริมระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพชายแดนใต้ นำโดย นพ.รุซตา สาและ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี
- โครงการที่ 4 การพัฒนาระบบการดูแลภาวะฉุกเฉินในผู้สูงอายุอย่างครบวงจรในพื้นที่ภาคใต้ นำโดย ผช. ดร.ลัพณา กิจรุ่งโรจน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- โครงการที่ 5 การพัฒนาคุณภาพการดูแลและผลลัพธ์ของการจัดการภาวะฉุกเฉินแบบมุ่งเป้าเฉพาะโรค นำโดย ผช. ดร.จินตนา ดำเกลี้ยง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- โครงการที่ 6 การพัฒนาสมรรถนะ มาตรฐาน และระบบการจัดการดูแลแบบชุมชนเป็นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือในภาวะฉุกเฉินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง นำโดย ดร.วริศรา โสรัจจน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์