รศ. ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา ประธานคณะกรรมการเครือข่ายวิจัยด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ : ภาคใต้ กล่าวว่า วช. ต้องการยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการโดยเฉพะห้องปฏิบัติการที่มีสารเคมี โดยการพัฒนาและนำไปสู่การปฏิบัติ โดยมอบหมายให้เครือข่ายวิจัยภูมิภาค ของแต่ละภูมิภาค ทั้ง 4 ภาค ส่งเสริมพัฒนา เป็นระบบเครือข่าย โดยการดำเนินงานของเครือข่ายวิจัยภูมิภาค “ภาคใต้” เป็นการดำเนินงานร่วมกันของแม่ข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และแม่ข่ายมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เพื่อพัฒนาและยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยลูกข่ายอีก 10 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ซึ่งในการจัดประชุมดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบริหารจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการต้นแบบและห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามข้อกำหนด Peer Evaluation
ผศ. ดร.ชิตชไม โอวาทฬารพร หัวหน้าโครงการแม่ข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในโครงการยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วยการอบรมให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการให้ทุกมหาวิทยาลัย ให้งบประมาณเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการ โดยโครงการของปี 2564 จัดสรรงบประมาณให้ จำนวน 50 ห้องปฏิบัติการ และในการประชุมในครั้งนี้ห้องปฏิบัติการที่ได้รับงบประมาณไปมีการนำเสนอผลการพัฒนาห้องปฏิบัติการจากงบประมาณที่ได้รับสรร นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีห้องปฏิบัติการต้นแบบคือ ห้องปฏิบัติการของคณะวิทยาศาสตร์ และห้องปฏิบัติการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งได้งบประมาณในการพัฒนาจาก วช และของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตาม มอก.2677/2558 อีก 2 ห้อง คือ ห้องปฏิบัติการของคณะเภสัชศาสตร์ และห้องปฏิบัติการของสำนักเครื่องมือและการทดสอบ
ดร.สุทธิสา ยาอีด หัวหน้าโครงการแม่ข่ายมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กล่าวว่า การดำเนินการในการยกระดับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการแต่ละห้องมีปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น บางห้องที่ไม่ได้ถูกสร้างเพื่อเป็นห้องปฏิบัติการตั้งแต่เริ่มสร้างอาคาร แต่วันหนึ่งต้องประยุกต์มาเป็นห้องปฏิบัติการ จึงทำให้มีข้อจำกัดในการยกระดับความปลอดภัย โดยเฉพาะเป็นห้องปฏิบัติการที่ใช้สารเคมี ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงในเรื่องของโครงสร้าง ระบบระบายอากาศ ไฟฟ้า ที่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงจำเป็นในการวางแผนในระยะยาว เพื่อการจัดหางบประมาณ ซึ่งการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ถ้าผู้บริหารหน่วยงานให้ความสำคัญ และการสนับสนุน